ทองคำเปลว หรือทองคำแผ่น มีวิธีการทำอย่างไร

ทองคำเปลว หรือทองคำแผ่น มีวิธีการทำอย่างไร

ทองคำเปลว หรือทองคำแผ่นบางๆ มีวิธีการทำอย่างไร

ทองคำเปลว หรือทองคำแผ่นบางๆ ที่เราใช้ปิดพระพุทธรูปเพื่อเป็นการแสดงความเคารพสักการะ หรือนำไปใช้ในงานช่างอย่างการลงรักปิดทอง ใช้มาร์คหน้าเพื่อบำรุงผิว หรือแม้กระทั่งนำไปตกแต่งอาหารอย่าง เค้ก มาการอง หรือช็อกโกแล็ต กว่าจะมาเป็นทองคำเปลว คุณรู้หรือไม่ว่า ทองคำแต่ละแผ่น ต้องผ่านการตี ให้แผ่ออกเป็นแผ่นบางๆ กี่ร้อยกี่พันครั้ง 

ขั้นตอนการทำทองคำเปลว 

วิธีการทำก็คือนำทองคำแท่งบริสุทธิ์มารีดให้เป็นแผ่นบางๆ ซึ่งผู้ผลิตมักจะสั่งซื้อมาจากโรงรีดอีกทีหนึ่ง ขั้นตอนแรกเรียกว่าแบ่งทองช่าง แบ่งทองโดยการชั่ง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าซื้อทองมา 10 บาททอง ก็จะแบ่งทองเป็น 5 ชุดๆ ละ 2 บาททอง ซึ่งจะมีน้ำหนักประมาณ 30 กรัม  

การลอนกุบ คือนำแผ่นทองที่ชั่งแล้ว มาตัดเป็นแผ่นขนาดเล็กๆ ซึ่งแผ่นทองที่มีน้ำหนักแค่ 30 กรัม จะถูกตัดออกเกือบเป็นพันชิ้นเลยทีเดียว

ทองแผ่นเล็กๆ เหล่านี้จะถูกเขี่ยลงบนกระดาษเพื่อเป็นการเตรียมทองก่อนนำไปตี ซึ่งเป็นกระดาษแก้วที่ใช้ในการตีทองโดยเฉพาะ ก่อนการใส่ทองจะต้องมีการกาดกระดาษด้วยแป้งทุกครั้งเพื่อให้ทองร่อนไม่ติดกระดาษ โดยขั้นตอนการเขี่ยทองลงไปบนแผ่นกระดาษนี้เรียกว่าการเขี่ยกุบ

ส่วนการใส่กุบ นั้นก็คือขั้นตอนที่นำแผ่นทองจากขั้นตอนเขี่ยกุบมาจัดให้อยู่ตรงกลางของกระดาษ เวลาที่นำกระดาษมาซ้อนๆ กัน แผ่นทองหรือ “กุบ” ทั้ง 750 ชิ้นต้องอยู่ตรงกันบนกลางกระดาษ หน่วยของกุบ 750 ชิ้น จะเรียกกันว่า 1 ขอน

ขั้นตอนต่อไปคือ “ตีกุบ” กุบจำนวน 1 ขอนจะถูกนำมาใส่ปอกกุบ ที่ทำด้วยหนังวัว ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นและทนทานต่อแรงตี จากนั้นก็นำกุบไปตีบนลานหิน ค้อนที่ตีทำมาจากทองเหลืองที่หนักถึง 5 กิโลกรัม ช่างที่ตีกุบต้องมีความชำนาญและประสบการณ์ เพราะต้องรู้ทั้งน้ำหนักและจังหวะในการตี เพื่อไม่ให้ทองที่อยู่ในกระดาษขาดและแผ่ออกเป็นแผ่นบางๆเสมอกัน ขณะที่ตีช่างจะนั่งบนคานไม้ไผ่เพื่อเป็นการช่วยผ่อนแรงในการตี โดยแผ่นทองข้างในจะขยายขนาดเป็นแผ่นใหญ่ขึ้นถึง 10 เท่า ซึ่งต้องใช้เวลาในการตีนานถึง 2 ชั่วโมงเลยทีเดียว  

การใส่ฝักหรือการเททองลงฝัก คือขั้นตอนการแกะเอาแผ่นทองที่ผ่านการตีในครั้งแรก มาใส่แผ่นกระดาษที่ใหญ่ขึ้น คล้ายๆ กับตอนใส่กุบที่แผ่นทองต้องวางตรงกัน หลังจากใส่ฝักเสร็จแล้ว

ขั้นตอนต่อไปเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการทำทองคำเปลวก็คือ “การตีฝัก” ทองที่ถูกจัดวางไว้ในกระดาษรอบที่สอง จะถูกนำมาตีอีกครั้ง ทีการตีฝักเป็นขั้นตอนสำคัญก็เพราะว่า ต้องใช้เวลาในการตีนานประมาณ 5-6 ชั่วโมงเลยทีเดียวกว่าทองจะขยายขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งนอกจากจะต้องใช้ความอึดในการตีทองแบบต่อเนื่องแล้ว ช่างตีทองยังต้องใช้ความระมัดระวังในการตี เพราะแผ่นทองจะบางมากขึ้น ถ้าแผ่นทองขาดก็นำไปขายไม่ได้ 

ทองคำเปลว หรือทองคำแผ่น มีวิธีการทำอย่างไร

เมื่อตีจนแผ่นทองบางได้ที่ ทองก็จะถูกแกะออกมาใส่ในกระดาษสา ขั้นตอนนี้ต้องใช้ความระมัดระวังในการแกะ เพราะแผ่นทองคำเปลวจะมีความบางมาก เมื่อเททองใส่กระดาษสา ที่มักทำมาจากกระดาษข่อยของเชียงใหม่ที่มีความเหนียว คงทนและระบายความชื้นได้ดี แล้วทองก็จะถูกนำไปตัดด้วยไม้ไผ่ที่ถูกเจียนขอบจนคม เรียกขั้นตอนนี้ว่า “การตัดทอง” งานตัดแบ่งทองจะมีอยู่ 2 ขนาดคือทองเต็ม เป็นทองคำเปลวขนาดใหญ่เต็มแผ่นกระดาษ ส่วนทองจิ้มจะเป็นแผ่นทองคำเปลวที่มีขนาดเล็กไม่เต็มแผ่นกระดาษ

ชนิดของทองที่ได้จะมีอยู่ 2 ชนิดคือ ทองคัดกับทองต่อ ทองคัดก็คือทองที่มีขนาดที่สมบูรณ์ ถูกตัดออกมาเป็นแผ่นในครั้งเดียว ส่วนทองต่อก็คือแผ่นทองที่เกิดจากการนำส่วนขอบของแผ่นทองมาต่อกันให้เต็มใบ ทองคัดส่วนมากจะนำไปติดพระพุทธรูป หรือพื้นผิวแบบเรียบ บนกระดาษห่อทองคำเปลวทุกแผ่นจะมีการประทับตราร้านค้าผู้ผลิต 

ทองคำเปลว หรือทองคำแผ่น มีวิธีการทำอย่างไร

ขั้นตอนสุดท้ายคือ การเคาะทอง โดยนำกระดาษที่ใส่แผ่นทองมาซ้อนๆ กันแล้วก็เคาะเพื่อให้ทองเรียบ โดยแต่ชุดจะมี 10 ปึกๆ ละ 10 แผ่นทอง ขั้นตอนนี้ก็เหมือนกับเป็นการนับทองนั่นเอง  มาตรฐานการจำหน่ายทองทำเปลว จะจำหน่ายเป็นชุด ชุดละ 500 ใบ มัดรวมกัน ราคาขายก็จะขึ้นอยู่กับราคาทองคำแท่งในตลาดโลก ราคาขายส่ง 100 ใบจะตกประมาณ  6-7 บาท ส่วนเศษทองที่เหลือจากการผลิตจะถูกรวบรวมไว้จนมีจำนวนมาก ก็จะส่งให้โรงงานทำการหลอมใหม่อีกครั้ง

เป็นไงบ้างคะ กว่าจะมาเป็นทองคำแผ่นบางๆ ต้องใช้ทั้งความปราณีต น้ำอดน้ำทนและฝีมือในการตีทอง รวมถึงต้องใช้เวลากันเป็นอย่างมากเลยทีเดียว เป็นอีกหนึ่งงานช่างที่เราควรอนุรักษณ์ไว้

การทำทองรูปพรรณ หรือวิธีทำทองคำแท่ง เกร็ดความรู้เกี่ยวกับทองคำ