ไบโพล่าร์ โรคอารมณ์สองขั้ว สาเหตุและการรักษา
โรคอารมณ์สองขั้ว หรือ ไบโพล่าร์ (Bipolar disorder) มีสาเหตุมากจากความผิดปรกติของสารในสมอง ผู้ป่วยจะมีอารมณ์เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้ายแล้วจะรับมือกับผู้ป่วยโรคนี้อย่างไรดี
เคยอยู่ดีๆ แล้วรู้เศร้าจับใจ หรือไม่ก็มีความสุขแบบสุดขั้วหรือไม่? ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทุกคนอาจจะเคยมีอารมณ์แบบนี้ แต่มันจะแปลกตรงที่อารมณ์ทั้ง 2 แบบนี้เรารู้สึกไปพร้อมๆ กัน หรือที่เรียกว่าอารมณ์แปรปรวนสุดขั้ว ศัพท์ทางวิชาการเรียกว่า ไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว
โรคไบโพล่าร์คืออะไร?
โรคอารมณ์สองขั้ว หรือหลายๆคนรักกันดีในชื่อไบโพลาร์ ซึ่งคำว่า ” Bipolar ” นั้นมาจากคำว่า “bi” ที่มีความหมายคือ สอง และคำว่า polar ซึ่งมีความหมายว่า “ขั้ว” ดังนั้นเมื่อนำทั้ง 2 คำนี้มารวมกันก็จะกลายเป็น อารมณ์สองขั้ว หรือโรคอารมณ์สองขั้วนั่นเอง ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีลักษณะของอารมณ์และบุคคลิกที่เปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยๆ และในบางครั้งก็จะอารมณ์ดี สดชื่น แจ่มใส แต่พอสักพักก็จะรู้สึกหดหู่ เศร้าใจ จนน่าประหลาดใจ
เป็นโรคที่สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย พออายุมากขึ้นก็อาจจะเป็นน้อยลง พบว่าคนไทยเป็นโรคนี้ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร โดยอาการที่แสดงออกมาในครั้งแรกๆนั้นจะสามารถแสดงออกมาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น พบมากในช่วงอายุ 16-29 ปี แต่อาการของโรคอาจจะยังปรากฏไม่ค่อยชัดเจนท่าไหร่ เพราะในช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างสูง จึงทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ต้องใช้เวลานานอยู่พอสมควร หรือบางครั้งอาจจะยาวนานเป็น 10 ปี จึงจะสามารถสังเกตอาการที่แน่ชัดได้
สาเหตุของโรค
โรคไบโพลาร์นั้นมีผลมาจากปัจจัยทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดต่อๆกันมา หรืออาจจะเกิดจากสารสื่อประสาทที่อยู่ในสมองไม่สมดุลกัน คือการที่สมองของเรานั้นมีสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า สารเซโรโทนิน (Serotonin) มีอยู่น้อยจนเกินไป หรือมีสารนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) อยู่มากเกินไป นอกจากนั้นก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก อาทิ การที่เรามีความเครียดสะสม หรือมีการใช้ยาหรือสารเสพติดจำนวนมากจนเกินไปนั่นเอง แต่สาเหตุหลักคือสารสื่อประสาทไม่สมดุลกัน แล้วความเครียดไปกระตุ้นให้มีอาการที่รุนแรงขึ้น
อาการของโรคไบโพลาร์
ลักษณะอาการของโรคอารมณ์สองขั้ว จะเป็นอาการของคนที่มีอารมณ์หรือพฤติกรรมนั้นเปลี่ยนแปลง ผิดปรกติไปจากเดิมโดยหาสาเหตุไม่ค่อยได้ โดยสามารถแบ่งเป็น 2 ช่วงอารมณ์ด้วยกัน คือ
1. ช่วงอารมณ์ซึมเศร้า หดหู่ โดยในช่วงนี้ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีความรู้สึกเบื่อหน่ายจนไม่อยากทำอะไรเลย หรือบางครั้งก็อาจจะร้องไห้ออกมาโดยไม่มีสาเหตุ ในบางครั้งก็จะรู้สึกหงุดหงิด โมโหได้ง่ายโดยไม่มีสาเหตุ นอนไม่หลับและที่สำคัญผู้ป่วยที่มีอาการเช่นนี้มักจะมีความคิดที่พยายามจะทำร้ายตัวเองอยู่บ่อยครั้ง หรือบางครั้งก็อาจจะคิดฆ่าตัวตาย ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตจากการคิดฆ่าตัวตายของโรคนี้มากถึง 15-20 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
2. ช่วงที่อารมณ์ดี คึกคักเกินกว่าปกติ (Mania depression) ในบางครั้งที่ผู้ป่วยโรคนี้กำลังรู้สึกอารมณ์ดี ก็จะเป็นคนที่พูดเก่งหรือพูดไม่หยุด และเมื่อไหร่ก็ตามที่มีคนมาขัดก็จำให้รู้สึกไม่พอใจและโมโหได้ง่ายๆ จนบางครั้งอาจแสดงอาการก้าวร้าวออกมาได้ และอารมณ์เช่นนี้ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยคิดฆ่าตัวตายได้เช่นกัน
แนวทางการรักษา
โรคไบโพลาร์นั้นสามารถรักษาโดยเป็นการบรรเทาอาการให้น้อยลงเท่านั้น เพราะโรคนี้ไม่สามารถที่จะรักษาให้หายขาดได้ เมื่อเรารู้หรือเริ่มสงสัยว่าเป็นโรคนี้ ก็ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ผู้เชียวชาญทันที เพื่อที่แพทย์จะได้ทำการวินิจฉัยโรคนี้และหาวิธีรักษาได้อย่างถูกวิธี เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคของสารเคมีในสมอง การรักษาหลักต้องใช้ยา ซึ่งแพทย์อาจจะให้ตัวยาที่สามารถช่วยควบคุมอารมณ์ หรือระงับสติอารมณ์ได้ในระดับหนึ่ง เช่น ลิเทียม (Lithium) วาลโปรเอท (Valproate) รวมไปถึงยาแก้โรคซึมเศร้า (Antidepressants) เป็นต้น ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยที่รับประทานตัวยาจำพวกนี้ติดต่อกันเป็นประจำ จะช่วยให้หายจากอาการที่เป็นอยู่ในเวลา 2-8 สัปดาห์หากเป็นไม่มาก
สำหรับคนไข้ที่ไม่มีการตอบสนองต่อยา ก็อาจจะมีการรักษาด้วยไฟฟ้า กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคลื่นสมอง ช่วยปรับเรื่องสารเคมีในสมอง นอกจากนี้แล้วตัวเราเองก็สามารถดูแลสภาพจิตใจของเราด้วยการทำจิตใจให้สบาย ผ่อนคลาย คิดบวก หากเป็นไปได้ก็ให้นั่งสมาธิเพื่อรู้จักและควบคุมอารมณ์ของตัวเองให้ได้นั้นเอง รวมถึงการระมัดระวัง ห้ามนอนน้อย ห้ามดื่มเหล้า และหากมีเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจก็จะสามารถกลับมาเป็นได้อีก การรับมือของคนในครอบครัว ควรจะเข้าใจผู้ป่วย เวลาอยู่ในช่วงซึมเศร้าก็ควรให้กำลังใจ พาออกไปทำกิจกรรมต่าง แต่ถ้าอยู่ในช่วงที่อารมณ์ดี คึกคักเกินกว่าปกติ ก็ต้องคอยเตือนเรื่องสิ่งกระตุ้นอาการของโรค คอยเตือนเรื่องเงิน เพราะผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงนี้มีแนวโน้มว่าจะใช้จ่ายเยอะ
->วิธีลดความตึงเครียด ผ่อนคลายร่างกายก่อนเข้านอน