วันสตรีสากล Google Doodle International Women’s Day

วันที่ 8 มีนาคม 2560 กูเกิ้ลร่วมฉลอง วันสตรีสากล International Women’s Day โดยการออก Google Doodle : International Women’s Day 2017

InternationalWomensDay

ประวัติวันสตรีสากล

ความเป็นมาของวันสตรีสากลเริ่มต้นเมื่อปี 1908 เมื่อกลุ่มสตรีมารวมตัวกันในนครนิวยอร์ก เพื่อเรียกร้องค่าจ้างและสวัสดิภาพในการการทำงานที่ดีขึ้น รวมถึงสิทธิในการออกเสียงอย่างเท่าเทียมกัน การออกมาชุมนุมในครั้งนี้จุดประกายเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันในประเทศอื่นๆ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1911 วันสตรีสากลถูกจัดอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศออสเตรีย เดนมาร์ก เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ และในปัจจุบันก็มีการจัดงานวันสตรีสากลไปทั่วโลก

กูเกิ้ลเฉลิมฉลองวันสตรีสากล ด้วยการออก Google Doodle ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน โดยมองย้อนกลับไปในอดีตที่มีผู้หญิงเป็นนักต่อสู้ บุกเบิกจนทำให้เรามีทุกวันนี้ ในสไลด์โชว์ของกูเกิ้ลวันนี้จะเป็นเด็กหญิงตัวน้อยๆกับคุณยาย ที่จะมาเล่านิทานก่อนนอนให้ฟังเหมือนอย่างเคย ในคืนนี้หนูจะได้ฟังสุดยอดนิทานเรื่องราวของสตรีในความทรงจำที่มาจากต่างที่ ต่างอาชีพ มีความสามารถที่แตกต่างกัน 13 คน และหนูน้อยคนนี้ยังได้ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ที่เธอชื่นชอบ กับพวกเธอทั้ง 13 คนด้วย ไปดูกันเลยว่าใครบ้าง

InternationalWomens Day

1. ไอด้า เวลส์ (Ida Wells) เกิดในปี 1862 เป็นนักหนังสือพิมพ์และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ชาวอเมริกัน-แอฟริกัน เป็นนักเขียนผู้มีพรสวรรค์ นอกจากนี้แล้วเธอยังเป็นนักพูด ที่เดินทางไปพูดให้ผู้หญิงเรียนรู้วิธีการที่จะยืนหยัดต่อสู้กับความอยุติธรรม และเธอยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคม National Association for the Advancement of Colored People (NAACP) ไอด้าเป็นผู้หญิงที่พิสูจน์ให้เห็นว่า คำพูด นั้นมีประสิทธิภาพมาก และแข็งแรงพอที่จะต่อสู้แม้แต่กับการยึดที่มั่นที่สุด

2. ลอตเฟีย เอล นาดี (Lotfia El Nadi) เอล นาดี เป็นนักบินหญิงแรกของอียิปต์ ที่บิดาของเธอคัดค้านแบบหัวชนฝา แต่ด้วยความช่วยเหลือของแม่ ทำให้เธอได้ลงทะเบียนเรียนในโรงเรียนการบินของอียิปต์ครั้งแรกในปี 1932 เพียงไม่กี่เดือนต่อมา ในปี 1933 เธอก็ได้รับใบอนุญาตในการบิน ในขณะที่มีอายุเพียง 26 ปี  เอลนาดีกลายเป็นผู้หญิงคนแรกของอียิปต์ ที่ขับเครื่องบินจากกรุงไคโรไปเมืองอเล็กซานเดรีย มันช่างเป็นระยะทางที่เหลือเชื่อและไกลมากสำหรับเธอ หากเทียบกับการเดินทางสู่ความเสมอภาคของผู้หญิงในอียิปต์มันไกลกว่านั้นอีก และเธอได้พิสูจน์ให้ว่า ผู้หญิงสามารถทำได้และเป็นได้ทุกอย่างหากพวกเธอกล้าที่จะฝัน

3. ฟรีดา คาห์โล (Frida Kahlo) จิตรกรชาวเม็กซิกัน และนักกิจกรรม เมื่อตอน 6 ขวบเธอเคยเป็นโปลิโอ แม้ว่าหายจากโรคนี้แล้วแต่ร่างกายเธอก็ยังสมบูรณ์ดี เมื่ออายุ 18 ปี เธอประสบอุบัติเหตุ จนไม่สามารถเดิน หรือเคลื่นไหวไปไหนได้ ช่วงนั้นเองที่เธอเริ่มวาดรูป และทำกิจกรรมทางการเมือง เธอต่อสู้เพื่อความยุติธรรมสำหรับผู้หญิงลาตินและแรงงาน ภาพวาดของคาห์โลเป็นภาพวาดที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองแบบสุดขีด เธอเล่าเรื่องราวผ่านภาพที่สดใส และภาพที่ทั้งน่าตกใจ ให้ชวนคิดตาม เธอบอกว่าเธอวาดจากความเป็นจริงของตัวเธอเอง ผลงานของเธอให้กำลังใจกับผู้หญิงในการฝ่าฟันอุปสรรคชีวิตไปพร้อมกัน

4. ลิน่า โบ บาร์ดิ (Lina Bo Bardi) นักสถาปนิกผู้เกิดที่อิตาลี แต่ใช้ชีวิตส่วนมากอยู่ที่บราซิล นอกเหนือจากอาชีพของเธอในฐานะสถาปนิกแล้ว โบบาร์ดิยังเป็นนักหนังสือพิมพ์ อาจารย์ และนักกิจกรรมทางการเมืองทั้งใน อิตาลี และบราซิล เธอเห็นสถาปัตยกรรมเป็นเครื่องที่แสดงให้ชีวิตของผู้คน

5. โอลกา สโคโรโฮโดวา (Olga Skorokhodova) นักวิทยาศาสตร์ของสหภาพโซเวียตและนักวิจัยในด้านการสื่อสารและหูหนวกตาบอด จากความเจ็บป่วยด้วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทำให้เธอต้องตาบอดและหูหนวก ในขณะที่มีอายุเพียงแค่ 5 ขวบ และยังมาสูญเสียพ่อแม่อีก โอลกาได้เรียนการพูดและการฟังจากศาสตราจารย์ Ivan Sokolianskii จนทำใหแธอมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ นอกจากนี้เขายังจะให้แนะนำให้รู้จักกับวิทยาศาสตร์พื้นฐานซึ่งจะสร้างแรงบันดาลใจชีวิตการทำงานของเธอ โอลกาได้เขียนหนังสือถ่ายทอดวิธีการรับรู้เรื่องต่างๆ จากประสบการณ์ชีวิตของตัวเองในหนังสือ “How I Perceive, Imagine and Understand the World Around Me”ที่เล่าเรื่องของตัวเองว่า เธอพัฒนาความสัมผัส , กลิ่น , การสั่นสะเทือน , อุณหภูมิ และรส เพื่อชดเชยการมองเห็นและการได้ยินของตัวเอง และเธอจะใช้ประสบการณ์เหล่านั้นให้งานวิจัยของเธอ และจุดประกายการเรียนรู้ใหม่ในสิ่งใหม่ๆ

6. มิเรียม มาเคบา (Miriam Makeba) นักร้องชาวแอฟริกาใต้และนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน มิเรียมเริ่มต้นอาชีพการแสดง ในปี 1959 และมีภาพของเธอปรากฏอยู่ในสารคดี เป็นภาพที่เธอโกรธเจ้าหน้าที่แอฟริกาใต้เกี่ยวกับเรื่องการแบ่งแยกสีผิว จนเป็นผลให้หนังสือเดินทางของเธอถูกเพิกถอน และทหารได้นำเธอออกจากแอฟริกาใต้ อย่างไรก็ตาม มิเรียมประสบความสำเร็จในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยชนะรางวัลแกรมมี่ในปี 1965 และเข้าร่วมงานกับ พอล ไซมอน เกรซแลนด์ในทัวร์ของเขาในปี 1980 มิเรียมใช้ชื่อเสียงที่มีของเธอในการดึงความสนใจของชาวโลก ให้มองเห็นถึงความทุกข์ทรมาน และการกดขี่แบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ ประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดล่า เคยกล่าวถึงเธอไว้ว่า เสียงร้องและท่วงทำนองเพลงของเธอ เป็นเสียงความเจ็บปวดของการพลัดถิ่นอันยาวนาน 31 ปี และในขณะเดียวกัน เป็นเสียงที่ทรงพลังและสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคน

International Womens Day

7. แซลลี่ ไรด์ (Sally Ride) นักบินอวกาศอเมริกันและเป็นผู้หญิงคนแรกในอวกาศ แซลลี่ คริสเทน ไรด์เป็นนักบินอวกาศหญิงคนแรกของอเมริกาที่ได้ขึ้นไปสำรวจในอาวกาศ ด้วยอายุเพียงแค่ 32 ปี เธอจึงเป็นนักอาวกาศที่มีอายุน้อยที่สุดในขณะนั้นที่ได้เดินทางไปกระสวยอวกาศชาลเลนเจอร์ เมื่อปี ค.ศ. 1983

8. ฮาเลต ชามเบล (Halet Çambe)l นักโบราณคดีชาวตุรกี และเป็นผู้หญิงมุสลิมคนแรกที่ได้เข้าร่วมในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ผู้ค้นพบอารยธรรมอักษรฟินิเชียแท็บเล็ตที่ปลดล็อครหัสฮิตไทต์ฮีโรกริฟฟิค นอกจากนี้แล้ว Halet Çambel ก็ยังเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ โดยการเป็นสาวมุสลิมแรกที่แข่งขันในโอลิมปิก ในกีฬาฟันดาบ เมื่อปี 1936

9. เอดา เลิฟเลซ (Ada Lovelace) นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ นักเขียน และโปรแกรมเมอร์คนแรกของโลก เอดา ไบรอน เลิฟเลซ เป็นคนที่แตกต่างจากหญิงสาวคนอื่นในยุคนั้น เพราะเธอมีความสนใจทางด้านคณิตศสาตร์ จนกระทั่งได้พบกับชาลส์ แบบบิจ ที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน และเอดาก็อาสาจะช่วยพัฒนางานด้านเครื่องมือวิเคราะห์ หลังทั้งคู่ก็ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องนี้กันเรื่อยมาผ่านจดหมาย ต่อมาเอด้าก็มีผลงานการสร้างภาษาสำหรับเครื่องวิเคราะห์ หรือที่เรียกว่า analytical engine และเอดายังเป็นผู้ที่แนะนำ และช่วยให้ ชาลส์ แบบบิจ สร้างเครื่องมือในการคำนวณ Bernoulli numbers ขึ้นมา ซึ่งต่อมาแผนการทำงานนี้ถูกยกย่องให้เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตัวแรกของโลก มีการตั้งชื่อภาษาคอมพิวเตอร์มาตรฐาน ISO ตัวแรกของโลกว่าว่า “ADA” เพื่อเป็นเกียรติให้กับเธอ

International WomensDay

10. รุกมินี เทวี อรุณดาเล (Rukmini Devi Arundale) นักเต้นรำชาวอินเดีย นักออกแบบท่าเต้น ผู้ฟื้นฟูนาฏศิลป์อินเดีย เทวีทำให้ผู้คนรู้จักการเต้นรำภารตะ Bharata Natyam ซึ่งเป็นเต้นรำแบบดั้งเดิมเก่าแก่กว่าพันปี ซึ่งเดิมทีมีการเต้นรำแบบนี้ในวัดฮินดู ซึ่งภายหลังก็เกือบจะหายไป และรุกมินี เทวี ได้ชุบชีวิตมันขึ้นมาใหม่ ในสไตล์ที่ดูทันสมัย ผสมผสานกับองค์ประกอบของดนตรีละครและเครื่องแต่งกายที่เธอค้นพบ ผลงานของเธอและสามีได้รับการยอมรับในงาน Kalakshetra Academy of Dance and music ที่เมืองเซนไน เมื่อปี ค.ศ. 1936

11. เซซีเลีย เกรียซอน (Cecilia Grierson) แพทย์กายภาพบําบัดชาวอาร์เจนตินา และเป็นผู้หญิงคนแรกในอาร์เจนตินาได้รับปริญญาทางการแพทย์ เมื่อศตวรรษที่ 19 ในประเทศอาร์เจนตินามีข้อจำกัดการเข้ารับการศึกษาทางด้านการแพทย์ของผู้หญิง ในความเป็นจริงแล้วมีผู้หญิงน้อยมากที่จะได้เข้าเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษา เซซิเลียพากเพียรจนสำเร็จการศึกษา เธอทำงานด้านสังคม เพื่อสิทธิประโยชน์สวัสดิการ ลาคลอดบุตรสำหรับผู้หญิง ในฐานะแพทย์กายภาพบําบัด เกรียสันก่อตั้งโรงเรียนพยาบาลครั้งแรกในอาร์เจนตินา และเป็นบุคคลแรกที่แนะนำว่าควรจะมีรถพยาบาลฉุกเฉินควรจะมีเสียงไซเรน ด้วยเหตุนี้รถพยาบาลฉุกเฉินจึงมักมีชื่อของเธอติดอยู่ด้วย

12. ลี ไท-ยัง (Lee Tai-young) ทนายความชาวเกาหลี และเป็นผู้พิพากษาหญิงแรกของประเทศเกาหลี ในปี ค.ศ. 1952 เธอต้องผ่านการทดสอบเป็นผู้พิพากษาด้วยความยากลำบาก ลี ไท-ยัง ได้เขียนหนังสือขึ้นมาหลายเล่ม เรื่องราวของลี ไท-ยัง สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงเกาหลีมีความกล้าที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ

13. ซูซานน์ ลองลอง (Suzanne Lenglen) แชมป์เทนนิสหญิง ชาวฝรั่งเศส ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังทางด้านกีฬา ซูซานน์เริ่มจับไม้เทนนิสครั้งแรกในปี ค.ศ.1910 เพื่อการออกกำลังกายให้มีสุขภาพที่ดีเท่านั้น แต่ภายในเวลาเพียงแค่ 5 ปีถัดมา เธอก็กลายเป็นแชมป์เทนนิสหญิงที่มีอายุน้อยที่สุด

ที่มา : Google Doodle