ความรักกับฮอร์โมน มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร

ความรกกบฮอรโมน วทยาศาสตรแหงความรก

ความรักกับฮอร์โมน มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร? 

ความรักกับฮอร์โมน วิทยาศาสตร์แห่งความรัก เมื่อพูดถึงเรื่องความรัก หลายคนก็อาจจะมองความรักในแง่ของความรู้สึกอย่างเดียว แต่รู้หรือไม่เรื่องของความรักนั้นก็เกี่ยวกับฮอร์โมนเช่นกัน โดยผู้เชี่ยวชาญ พญ.วินิทรา แก้วพิลา อาจารย์ประจำสาขาวิจเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายเรื่องราวของความรักกับฮอร์โมน ไว้ดังนี้ 

ช่วงโปรโมชั่น แรกรัก กับ ฮอร์โมนโดปามีน 

เวลาที่เราเกิดความรู้ปิ๊งใครหรือชอบใครสักคนก็จะทำให้สมองของเรานั้นหลั่งสารเคมีชนิดหนึ่งออกมา สารเคมีหรือฮอร์โมนที่ว่านี้ก็คือ โดปามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้รู้สึกดี ตื่นตัว กระฉับกระเฉง ไวต่อสิ่งกระตุ้น หรือเป็นสารที่ทำให้เรามีความสุข อย่างเช่น การออกกำลังกายเยอะๆ การมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน กิจกรรมเช่นนี้ก็จะทำให้สมองของเรานั้นรู้สึกเหมือนว่าร่างกายของเรากำลังได้รับรางวัล ทำให้เรารู้สึกพึงพอใจแล้วสมองจะหลั่งสารโดปามีนออกมาอีก เมื่อสารโดปามีนหลั่งออกมามากขึ้นก็จะทำให้ร่างกายนั้นมีความรู้สึกอยากทำกิจกรรมเหล่านั้นอีกมากขึ้น

.

ความรู้สึกแบบนี้เรียกได้ว่าเป็นเหมือนความเสน่หานั่นเอง ซึ่งความจริงแล้วสารโดปามีนก็คล้ายกับสารเสพติดชนิดหนึ่งนั่นเอง แต่ความรู้สึกเช่นนี้จะอยู่ได้เพียงแค่ 6 เดือน หรือที่เราคุ้นหูกันในคำว่า ช่วงโปรโมชั่นของคู่รักหลายๆ คู่ ซึ่งในช่วงระยะเวลา 6 เดือนแรกนั้น คู่รักไม่ว่าจะหญิงหรือชายก็จะมีพลังที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของอีกฝ่ายหรือเป็นผู้ให้ได้ เช่น การไปรับไปส่ง การทำนู้นทำนี้ให้ เป็นต้น 

ตอนแรกๆ ที่ตกหลุมรัก บางคนก็อาจจะมีอาการตื่นเต้น ตกใจ หรือมีอาการประหม่าเวลาที่เข้าใกล้คนที่ตัวเองแอบหลงรัก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าต่อมหมวกไตกำลังหลั่งสารอะดรีนาลิน (Adrenaline) ออกมานั่นเอง

ความใกล้ชิด กับ ฮอร์โมนออกซิโทซิน

หลังจากที่โดปามีนทำงานครบ 6 เดือนแล้วก็จะมีฮอร์โมนตัวต่อมาที่ทำให้หน้าที่ต่อนั้นก็คือ ออกซิโทซิน (Oxytocin) โดยผู้เชี่ยวชาญ ดร.ประภาพรรณ จูเจริญ ประทานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรวิทยาการเสพติด สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวเกี่ยวกับออกซิโทซินไว้ดังนี้  ออกซิโทซิน เป็นฮอร์โมนที่ทำให้จิตใจสงบ คลายเครียด หรือก็คือฮอร์โมนที่เกี่ยวกับสัมพันธภาพของคนรักทั้งคู่ เมื่อออกซิโทซินหลั่งออกมาก็จะทำให้สัมพันธภาพของคนรักนั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง เช่น ความผูกพันธ์ การกอด การสัมผัส การใกล้ชิดกัน และออกซิโทซินยังเป็นฮอร์โมนแห่งการปลดปล่อยอารมณ์ที่สมองหลั่งออกมาในขณะที่มีอะไรกัน

ความรักกับฮอร์โมน มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร

นอกจากนี้แล้วยังมีสารอีกตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า วาโซเพรสซิน (Vasopressin) เป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้คู่รักนั้นมีความรู้สึกผูกพันกันยาวนานมากขึ้น โดยสมองจะหลั่งสารวาโซเพรสซินออกมาหลังจากมีความสัมพันธ์กันของคู่รัก เป็นฮอร์โมนที่ทำให้มีความรู้สึกผูกพันหวงแหน อยากดูแลและปกป้องคนรักของตน นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้กับหนูทดลองชนิดหนึ่งซึ่งโดยธรรมชาติของมันแล้วจะมีคู่ครองแค่ตัวเดียวทั้งชีวิต คือเป็นหนูประเภทรักเดียวใจเดียวและมันจะคอยปกป้องคู่ของมันตลอดเวลา แต่หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ฉีดสารยับยั้งการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนวาโซเพรสซินให้กับมัน ก็ปรากฎว่ามันไม่มีความผูกพันธ์หวงแหนคู่ของมันอีกต่อไป แถมยังไปมีความสัมพันธ์กับหนูตัวอื่นอีกต่างหาก

อาการดื้อโดปามีน ทำรักจืดจาง

ทำไมความรักจึงน้อยลง?  จริงๆ แล้วการทำงานของฮอร์โมนต่างๆ มันจะทำงานตามปกติแต่ว่าในแต่ละวันนั้นร่างกายก็จะมีอาการดื้อขึ้นเรื่อยๆ คล้ายกับอาการดื้อยานั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น วันนี้เรามีความสุขที่ได้ทำแบบนี้ แต่พออีกวันเราก็ยังคงทำเหมือนเดิม แต่กลับรู้สึกมีความสุขไม่เหมือนเดิม แล้วกลายเป็นความรักเริ่มจืดจางลง แต่ถ้าเราอยากให้ความรักนั้นไม่จืดจางก็อาจจะเปลี่ยนบรรยากาศหรือเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามที่ทำให้สารโดปามีนนั้นหลั่งออกมาแล้วร่างกายก็จะรู้สึกมีความสุขเท่าเดิม นอกจากนี้แล้วการได้ทำกิจกรรมต่างๆ กับคนรักแล้วมีความสุขก็เพราะสมองมีการหลั่งสารเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ออกมานั่นเอง

อาการอกหัก – เซโรโทนิน

อกหักแล้วทำไมถึงเศร้า? จริงๆ แล้วเมื่อเราอกหักหรือซึมเศร้าร่างกายก็จะหลั่งฮอร์โมนเซโรโทนิน ที่ทำหน้าที่ควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์ ความรู้สึก และการรับรู้ความเจ็บปวด แต่ว่าระดับฮอร์โมนเซโรโทนินในแต่ละคนจะมีไม่เท่ากันทำให้สภาวะทางอารมณ์ของคนแต่ละคนแตกต่างกัน เช่น บางคนก็จะมีอารมณ์ฉุนเฉียว มีความรักรุนแรง หวงรุนแรง เป็นต้น สงสัยนางร้ายในละครทีวีจะมีระดับฮอร์โมนเซโรโทนินขึ้นๆ ลงๆ นอกจากสภาวะทางอารมณ์แล้ว ฮอร์โมนเซโรโทนินเมื่อมันหลั่งออกมาแล้วก็จะทำให้กล้ามเนื้อรู้สึกอ่อนแรงไปด้วย 

ร่างกายของมนุษย์ช่างเป็นอะไรที่มหัศจรรย์จริงๆ เลยนะคะ อย่างไรก็ตามเรื่องความรักก็เป็นเรื่องของมุมมองในแต่ละคนว่าจะมองความรักในมุมมองไหน หากมองในมุมมองที่ไม่หลงไหลคลั่งไคล้ในความรักมากจนเกินไป ก็จะทำให้เวลาที่อกหักนั้นมีความรู้สึกเศร้าที่น้อยกว่าคนที่เทิดทูนความรักจนไม่ยอมมองสิ่งรอบๆ ข้าง ถ้าหากเรามีสติและคิดบวกทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตทั้งดีและร้าย เราก็จะสามารถรับมือมันได้อย่างง่ายดาย