โรคบ้านหมุน โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร?

โรคบ้านหมุน หรือ Vertigo (อ่านว่า เวอร์ไทโก้) เป็นอาการเวียนศีรษะ และผู้ป่วยจะมองเห็นทุกอย่างรอบๆ ตัวหมุนไปในทิศทางเดียวกัน อาจจะหมุนขึ้นลงหรือหมุนตามขวาง หากหลับตาผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตัวเองกำลังหมุนไปรอบๆ หลายคนเรียกอาการนี้ว่า “บ้านหมุน”

vertigo meniere

โรคบ้านหมุน เกิดจากอะไร?

สาเหตุเกิดจากตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด หรือการเคลื่อนที่ อาจจากศีรษะได้รับการกระแทก หรือในบางครั้งตะกอนหินปูนนี้ก็หลุดออกมาเองโดยไม่มีสาเหตุ ซึ่งเจ้าตะกอนหินปูนนี้เป็นตัวจับแรงดึงดูดของโลก ทำให้เรารับรู้ถึงการทรงตัวของร่างกาย ให้รู้ว่าตอนนี้ศีรษะของเรากำลังเคลื่อนไปทางไหน ซ้าย-ขวา หรือว่า ก้ม-เงย ซึ่งเจ้าตะกอนหินปูนที่ว่านี้เปรียบเสมือนกับตุ้มถ่วงน้ำหนัก ที่จะแกว่งไปทางไหนก็แล้วแต่ แต่สุดท้ายแล้วมันต้องชี้ลงที่พื้นอยู่เสมอ แต่พอตะกอนอันนี้มันหลุดก็จะส่งสัญญานไปยังระบบประสาทส่วนกลาง กระตุ้นให้เกิดอาการเวียนหัวแบบบ้านหมุนขึ้นมา ซึ่งมักจะเกิดในขณะที่เคลื่อนไหวท่าใดท่าหนึ่ง เช่น อาจจะเป็นเฉพาะตอนตะแคงซ้าย ตะแคงขวา ก้มหน้า เงยหน้า โดยไม่มีอาการอื่นแทรก เช่น หูอื้อ แขนขาอ่อนแรง ตาพร่ามัว แต่เมื่อไหร่ที่มีอาการบ้านหมุนและมีอาการอื่นๆร่วมด้วย นั่นอาจจะไม่ใช่อาจจะไม่ใช่อาการของโรคบ้านหมุน แนะนำว่าควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไปว่าเป็นอะไรกันแน่

ส่วนอายุหรือช่วงวัย ไม่ได้เป็นปัจจัยให้เกิดโรค ไม่ว่าใคร ช่วงวัยไหน ก็มีโอกาสที่ตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุดได้เช่นกัน แต่พบมากในวัยกลางคน บางคนหลุดแล้วก็สามารถกลับคืนได้เองโดยธรรมชาติ บางรายที่ไม่สามารถกลับเข้าที่ได้เองก็ควรที่จะไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาตามอาการของแต่ละคน

ความอันตราย ตัวโรคเองนั้นไม่อันตราย แต่ถ้ามีอาการเกิดขึ้นในขณะทำกิจกรรมที่สำคัญ เช่น ขณะที่กำลังขับรถ หรือขณะกำลังข้ามถนนแล้วมีอาการบ้านหมุนขึ้นมาก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ หากมีอาการบ้านหมุนขึ้นมา ควรหยุดเปลี่ยนแปลงอริยาบทอย่างรวดเร็ว หยุดนิ่งซักพัก และเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ

ear anatomy

โรคบ้านหมุน VS โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เหมือนหรือต่างกันอย่างไร หลายคนอาจคิดว่าทั้ง 2 โรคนี้คืออันเดียวกัน แต่ในทางการแพทย์แล้ว โรคเกี่ยวกับน้ำในหูนั้นแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

1. โรคน้ำในหูหมุนไม่เท่ากัน (Vertigo)

เป็นโรคที่พบมากที่สุด เกิดจากภาวะที่น้ำในหูหมุนไม่เท่ากัน ภายในหูของคนเราจะมีท่อครึ่งวงกลมอยู่ 3 ท่อ (Semicircular canals) และมีกระเปราะยึดท่อเหล่านั้นไว้ ภายในกระเปาะจะมีฝุ่นหินปูนอยู่ โดยธรรมชาติแล้วทุกคนมีเหมือนกันหมด โดยฝุ่นหินปูนที่ว่านี้จะเกาะอยู่บนเซลล์เหนียวๆ วันดีคืนดีเกิดมันหลุดขึ้นมา แล้วเข้าไปอยู่ในท่อครึ่งวงกลม จะทำให้น้ำที่อยู่ในท่อครึ่งวงกลมนั้นหมุนเร็วขึ้นกว่าอันอื่น เลยทำให้เกิดอาการบ้านหมุนขึ้นมา พอเราอยู่นิ่งฝุ่นหินปูนนั้นก็จะตกตะกอน อาการบ้านหมุนจะหายไป พอเคลื่อนที่เร็วๆก็จะกลับมาเป็นอีก หลักในการรักษาก็คือทำให้ฝุ่นหินปูนออกจากท่อ กลับไปอยู่ในกระเปาะเหมือนเดิม โดยแพทย์จะเป็นคนวินิจฉัย และรักษาโดยการหมุนศีรษะไล่ตำแหน่งไปเรื่อยๆ จนกว่าหินปูนกลับเข้าไปอยู่ในกระเปาะ โดยไม่ต้องกินยา

2. โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere อ่านว่า มีเนียร์)

เกิดจาการที่อยู่ดีๆ ก็เกิดภาวะที่มีน้ำในทั้งระบบเยอะขึ้นมา จนไปดันท่อจนทำให้เกิดอาการบ้านหมุนขึ้นมา ทั้งๆที่ไม่ได้มีการขยับศีรษะ อาจจะหมุนเป็นเวลานานกว่าจะหยุด 10-15 นาที หรือนานถึง 30 นาที มีอาการเวียนศีรษะ คลื่นอาเจียรร่วมด้วย อาการเป็นซ้ำ พอน้ำลดลงก็หาย พอน้ำขึ้นมาใหม่ก็มีอาการอีก พอน้ำดันไปถึงท่อกลมๆ คนไข้อาจจะได้ยินเหมือนเสียงดังหึ่งๆ ขึ้นมา เสียงคล้ายกับจั๊กจั่น หรือจิ้งหรีด เสียงมักจะมาก่อนอาการบ้านหมุน ถ้าเป็นนานๆ หูข้างนั้นอาจจะดับไปเลย โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือ โรคมีเนียร์ พบค่อนข้างน้อย แต่ถ้าเป็นขึ้นมาก็ควรรีบไปปรึกษาแพทย์

สรุปว่าทั้ง 2 สองโรคนั้นแตกต่างกัน แต่มีอาการเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ บ้านหมุน ส่วนอาการบ้านหมุนในขณะที่เราหมุนตัวเร็วๆ หลายรอบนั้นเกิดจากการที่น้ำในหูเคลื่อนที่เร็วเกินไป เป็นเรื่องปรกติไม่ถือว่าเป็นโรค อย่างไรก็ดีแม้ว่าโรคบ้านหมุนหรือเวอร์ไทโก้ จะเป็นโรคที่ไม่อันตราย หากท่านใดมีอาการนี้บ่อยๆ ก็ควรไปพบแพทย์ เพราะหากเกิดอาการนี้ขึ้นมาในขณะที่ทำกิจกรรมสำคัญๆ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อย่ามองว่าเป็นเรื่องเล็กนะคะ

Tags : #โรคบ้านหมุน #น้ำในหูไม่เท่ากัน #Vertigo # Meniere