การใช้ยาผิด อันตรายจากการใช้ยาไม่ถูกต้อง ยอดฮิต 10 อันดับ

จุดประสงค์ที่เราซื้อยามากินก็เพื่อที่จะรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ แต่ว่า การใช้ยาผิด นอกจากไม่ทำให้หายป่วยแล้วยังเป็นอันตรายกว่าที่คิดไว้เสียอีก อาจารย์โจ้ หรือเภสัชกร ธีรัตน์ เหลืองมั่นคง ได้มาให้ความรู้เรื่องนี้ในรายการ ยาหมอบอก ของช่องมหิดล แชนแนล โดยเริ่มจากเบาไปหาหนักจนถึงขั้นเสียชีวิต  

การใชยาผด 10 อนตรายจากการใชยาไมถกตอง

10 อันดับยอดฮิต การใช้ยาผิด

1. ลืมกินยา อันดับแรกก็เบากันก่อน เชื่อว่าทุกคนคงเคยลืมกินยา ถ้าลืมแล้วจะทำอย่างไร ยาจะมีอยู่หลายแบบ มีทั้งแบบกินก่อนและหลังอาหาร ยาโดยส่วนมากกินหลังอาหารได้ แต่ที่สำคัญสุดคือถ้ายาระบุมาว่า กินก่อนอาหาร ต้องกินก่อนอาหารจริง เพราะช่วงนั้นร่างกายจะไม่มีการหลั่งกรดออกมาย่อยอาหาร ช่วงนั้นยาจะออกฤทธิ์ได้ดี ถ้ามีน้ำย่อยหลั่งออกมาแล้วยานั้นก็จะดูดซึมไม่ดี ยาไม่ได้ผล เสียตังค์ฟรี เช่นยาเม็ดเคลือบกระเพาะอาหาร ต้องกินก่อนอาหาร ½ ชั่วโมง ถ้าลืมแล้วก็ข้ามไปรอมื้อถัดไป และไม่จำเป็นต้องกินแบบดับเบิ้ลโดส แต่ถ้าจำเป็นต้องกินก็ควรรอหลังทานอาหารไปแล้ว 2 ชั่วโมงแต่ถ้าเกิด 2 ชั่วโมงนั้นไปใกล้กับเวลาอาหารอีกมื้อต่อไปก็ไม่ควรกิน 

2. ใช้หรือกินยาที่เหลือจากการป่วยคราวที่แล้ว ก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นยาอะไร ที่สำคัญคือจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการป่วยนั้นเหมือนเดิม เชื้อตัวเดิม ยาบางอย่างพอเปิดใช้แล้วอาจมีเชื้อปนเปื้อนลงไป เช่นยาหลอดตาที่ตอนใหม่ๆจะปลอดเชื้อ พอเปิดออกมาไม่ควรใช้งานเกิน 1เดือน ยากินบางอย่างอาจใช้ซ้ำได้ ถ้าเกิดเสียดาย เวลาไปหาหมอก็ควรพายาไปหาหมอด้วย เราจะได้มั่นใจว่ายานั้น รักษาถูกโรคที่กำลังป่วยอยู่ เพราะหมอหรือเภสัชเป็นคนแนะนำ

3. ยาแก้อักเสบ ยาฆ่าเชื้อ เมื่อหาย หยุดยาทันที ไม่กินต่อเนื่อง อันนี้เป็นการใช้ยาแบบที่ผิดมากๆเลย ยาแก้ปวดหัวหยุดกินเมื่อหาย แต่ยากลุ่มที่แก้อักเสบฆ่าเชื้อหรือยาปฎิชีวนะ ถ้ากินไม่ต่อเนื่องเชื้อโรคที่ตายไม่หมดจะพัฒนาตัวเองจนเกิดอาการดื้อยา ถ้าเราป่วยโรคนี้อีก หมอให้ยาเดิมมากินจะรักษาไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนยาที่แพงขึ้น มีผลข้างเคียงมากขึ้น ยาแก้อักเสบฆ่าเชื้อ ต้องกินจนถึงระดับที่ยากำจัดเชื้อได้พอสมควรและรอให้ภูมิต้านทานร่างกายมาทำงานร่วมกัน และกำจัดเชื้อได้จนหมด ไม่ก่อโรคอีกต่อไป ถ้ากินนิดเดียวแล้วหายเลยหยุดกิน แต่ภูมิคุ้มกันในร่างกายยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ เชื้อจึงยังหลงเหลืออยู่และมีดื้อยาได้นั่นเอง

4. กินยานอนหลับโดยไม่จำเป็น ในทางการแพทย์ยานอนหลับจะใช้กับคนที่ภาวะจิตใจที่เป็นปัญหาจนทำให้นอนไม่หลับ หรือคนที่เดินทางไกล มีอาการเจ็ทแลค ก็อาจใช่ยานอนหลับเพื่อช่วยให้วงจรการนอนหลับกลับมาเป็นปรกติ แต่ส่วนมากแล้ว คนจะรู้สึกว่าพอใช้ยานอนหลับแล้วหลับสบาย แรกๆก็ติดใจ นานๆไปเริ่มติดจริง ไม่กินแล้วนอนไม่หลับ เพราะสารในสมองเริ่มทำงานผิดปรกติ คนส่วนมากมักจะเพิ่มขนาดยานอนหลับ กินยานอนหลับทำให้หลับลึกจริง แต่ตื่นมามักจะไม่สดชื่น พยายามนอนให้หลับตามวิธีธรรมชาติถึงจะดีที่สุด

5. กินยาเพิ่มความจำ ก่อนสอบ ไม่ได้ผลจริง เพราะยาฉลาดไม่มีในโลก ที่คนเรียกยากลุ่มนี้ว่า “ยาฉลาด” เพราะมันออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ประสาทตื่นตัว มีสมาธิในการอ่านหนังสือ  ความจริงแล้วยากลุ่มนี้เอาไว้ใช้กับเด็กสมาธิสั้น และพวกเหงาหลับ  หรือคนที่หลับง่ายมาก อยู่เฉยๆก็หลับ ข้อเสียของยากลุ่มนี้คือ ในระยะสั้น จะไปกระตุ้นหัวใจ ใจสั่น นอนไม่หลับ ระยะยาวจะมีผลกับสมองให้ทำงานอีกด้านหนึ่งไป กลายเป็นคลุ้มคลั่ง ซึมเศร้า ผลมันจะคล้ายๆยาบ้า แต่ฤทธิ์น้อยกว่า

6. ลืมกินยาคุม กินยาคุมแต่กลับท้อง วิธีแก้ ลืม 1 เม็ด พอนึกได้ให้กินเลย ลืม 2 เม็ดก็ให้กินทันที (แสดงว่าวันนั้นต้องกิน 2 เม็ด ของวันนี้กับของที่ลืม) วันถัดไปก็กิน 2 เม็ด (ของวัดถัดไป+เม็ดที่ลืม)  ถ้าลืม 3 เม็ดยาคุมแผงนั้นอาจไม่ได้ผลแล้ว แม้ว่าบางยี่ห้อจะบอกว่าใช้ได้ แต่อย่าเสี่ยงเลย ให้คุมกำเหนิดด้วยวิธีอื่นๆ ร่วมด้วยเพื่อความมั่นใจ ยาคุมฉุกเฉิน ควรกินเวลาฉุกเฉินจริงๆ เพราะยานี้ถูกคิดค้นขึ้นมาสำหรับคนที่โดนข่มขืน เพราะในหนึ่งเม็ดจะมีฮอร์โมนมากกว่ายาคุมปรกติ 2-3 เท่า ในยาคุมฉุกเฉินกินนานๆอาจทำให้เป็นมะเร็งได้ ฮอร์โมนในยาคุมฉุกเฉินเป็นโปรเจสเตอร์โรน ซึ่งก็จะทำให้เกิดมะเร็งอีกแบบหนึ่งได้เช่นกัน ความเชื่อผิดๆ ยาคุมฉุกเฉินกินเพื่อทำแท้งไม่ได้ แถมอาจทำให้ลูกในท้องพิการได้อีก

7. ไม่อ่านฉลากยา ข้อมูลทุกอย่างถูกเขียนไว้บนฉลาก แต่คนไม่อ่าน ทำให้อันตรายถึงชีวิตได้ การกินยาบางอย่างเบิ้ลขนาด เช่น ยาโรคหัวใจ ยาลดความดันโลหิต หรือยาขายหลอดลม ถ้าฉลากเขียนว่าให้กินเม็ดเดียว แล้วเผลอกินไป 2-3 เม็ดอาจตรายถึงขั้นโคม่าหรือเสียชีวิตได้ 

8. ซื้อยากินเอง โดยไม่รู้ผลข้างเคียง อย่างเบาๆ คือยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก มีผลข้างเคียงคือกินแล้วง่วง กินแล้วไม่ควรไปขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักร ที่อันตรายมากๆก็คือ ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ที่เรียกว่ากลุ่ม เอ็นเสด (NSAIDs) ผลข้างเคียงคือกัดกระเพาะ ต้องกินหลังอาหารเท่านั้น กินข้าวเสร็จก็กินเลย แล้วดื่มน้ำตามมากๆหรือไม่ก็กินพร้อมอาหารไปเลย ยาบางตัวแรงมากอาจทำให้กระเพาะทะลุได้ กินนานๆอาจทำให้ไตวายได้ ยาบางตัวมีผลข้างเคียงทำให้หูหนวก เสียการทรงตัว ไตวาย เช่น ยาฉีดสเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) ที่คนต่างจังหวัดมักเอาไปฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ยานี้เป็นยาฆ่าเชื้อที่ผลิตมาเพื่อรักษาวัณโรค สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ดื้อยา และต้องไปฉีดที่โรงพยาบาลเท่านั้น ยาวัณโรคอีกตัวคือ อีแทมบูทอล (Ethambutol) เป็นยาเม็ดที่ใช้รักษาผู้ป่วยวัณโรคจริงๆเท่านั้น แต่ยารักษาวัณโรคมันจะฆ่าเชื่อได้ทุกชนิดคนก็เลยเอาไปใช้งานผิดๆ พอเป็นวัณโรคจริงเชื้อมันจะดื้อยา ผลข้างเคียงที่น่ากลัวของอีแทมบูทอลคืออาจทำให้ตาบอด ถ้ากินเกินขนาด หรือกินติดต่อกันนานเกินไป 

9. ไม่รู้ว่าแพ้ยา คนเราไม่มีทางรู้หรอกว่าตัวเองแพ้ยาอะไรบ้าง จนกว่าจะกินมันเข้าไป แต่หลังจากแพ้ยาแล้วก็ควรจำ หรือจดไว้ เวลาไปรงพยาบาลก็อย่าเพิ่งรำคาญ พยายาลมักจะถามว่าแพ้ยาอะไรหรือเปล่า พอเจอหมอก็โดนถามอีก พอรับยาก็โดนเภสัชกรถามอีกครั้ง เพื่อประโชน์ของคุณเอง อาการแพ้ยามีตั้งแต่เป็นผื่นแบบเบาๆ หรือที่รุนแรงมากผิวหนังอาจจะลอกทั้งตัว ตาบวม หายใจไม่ออก หรือเสียชีวิตได้ 

10. ยาตีกัน กินยาหลายชนิดด้วยกัน หรือกินกับเครื่องดื่มผิดประเภท มีตั้งแต่เล็กๆน้อยๆ เช่นกินแล้วไม่ได้ผล หรือถึงขั้นเสียชีวิตไปเลย  ยาลดกรดกับนม ยาแก้ปวดกับอัลกอฮอล์ แต่เรื่องนี้ยาวมาก จะขอแยกไปไว้ในหัวข้อ “ยาตีกัน” อีกต่างหาก เคยเขียนเกี่ยวเรื่องนี้ไว้ในหัวข้อ “ยากับเครื่องดื่ม 6 ชนิดที่ไม่ควรกินคู่กัน” ลองไปหาอ่านเพิ่มเติมดูนะคะ

การใช้ยาผิด อันตรายกว่าที่คิดไว้เยอะเลยระคะไปหาหมอครั้งต่อไปเอายาเก่าไปด้วย จะช่วยประหยัดค่ายา คุณหมอจะได้รู้ประวัติการใช้ยาของเรา และช่วยประหยัดค่ายาได้อีกด้วย ให้คุณหมอช่วยดูให้ก็จะปลอดภัยยิ่งขึ้นนะคะ