วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดประจำรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7

WatRatchabophit

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2412 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากขึ้นครองราชย์ครบ 1 ปี ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างวัดแห่งขึ้นมาเป็นวัดประจำรัชกาล ตามโบราณราชประเพณี พร้อมกับพระราชทานนามให้ วัดราชบพิธ ซึ่งแปลว่าวัดที่กษัตริย์ทรงสร้าง สถิตมหาสีมาราม แปลว่ามีสีมาตั้งอยู่แปดทิศ นับเป็นพระอารามหลวงสุดท้ายที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง ตามโบราณราชประเพณี อีกทั้งยังเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 7 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับเป็นพระราชภาระในการทำนุบำรุง และบูรณปฏิสังขรณ์

จึงถือว่าเป็นวัดแห่งเดียวในกรุงรัตนโกสินทร์ ที่เป็นวัดประจำรัชกาลของมหากษัตริย์ถึงสองพระองค์ ในการที่ทรงสร้างวัดพระราชบพิธนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการซื้อพื้นที่จากกรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณ หรือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิงหรา และที่ข้าราชการ ราษฏร ในพื้นที่ประมาณ 8 ไร่เศษ ซึ่งสร้างวัดที่เราจะเห็นสร้อยนามว่า สถิตมหาสีมาราม

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า วัดราชบพิธ หมายถึงวัดที่พระเจ้าแผ่นดินหรือราชาเป็นผู้สร้าง ส่วนสร้อยนามว่า สถิตมหาสีมาราม หมายถึงเป็นที่ตั้งแห่งสีมาใหญ่ ซึ่งโดยปรกติแล้วเราจะเห็นสีมาอยู่ล้อมรอบอุโบสถเท่านั้น แต่พระอารามที่มีสีมาล้อมรอบมีมาในสมัยรัชกาลที่ 4 คือในวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม แล้วถัดมาก็คือวัดราชบพิธสถิต จะมีสีมาอยู่ล้อมรอบในบริเวณเขตของวัด เป็นกำแพงของวัด ซึ่งการทำสังฆกรรมนั้นจะทำในเขตบริเวณของสีมา ดังนั้นจะทำการอุปสมบทหรือสังฆกรรมต่างๆ จำทำที่ไหนก็ได้

เขตพื้นที่วัดแบ่งเป็น เขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส และเขตสุสานหลวง มีการจัดวางผังอย่างงดงาม มีสถาปัตยกรรมที่สะดุดตา ตั้งแต่ก้าวเข้ามาในวัดจะมีบานประตูไม้ขนาดใหญ่ แกะสลักเป็นรูปทหารแบบยุโรป มีรูปตราแผ่นดินของรัชกาลที่ 5 ติดอยู่เหนือประตู

Wat Ratchabophit

พระอุโบสถ

พระอุโบสถเป็นรูปสถาปัตยกรรมแบบไทย หลังคาด้านหน้ามีมุขเด็จ มุงด้วยกระเบื้องเบญจรงค์รูปเทพพนม ติดช่อฟ้า ภายในวิจิตรงดงามด้วยเพดานลายเครือเถาสีทอง ศิลปะแบบโกธิค ที่ผสมผสานเอกลักษณ์ของศิลปะไทยและตะวันตกไทยตามแบบพระราชนิยมได้อย่างลงตัว ส่วนผนังช่องหน้าต่างเป็นรูปอุณาโลม

พระพุทธอังคีรส

ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธอังคีรสเป็นพระประธาน ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีหินอ่อนจากอิตาลี เหนือพระประทาน จะเห็นว่าเป็นพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร คือฉัตรขาว 9 ชั้น ที่เคยกางกั้นเหนือพระบรมโกศพระบรมศพของล้นเกล้า รัชกาลที่ 5 (นพ=เก้า ปฎล=ชั้น เศวต=สีขาว) พระเจดีย์และพระวิหารคต ผนังประดับด้วยกระเบื้องเบญจรงค์อันแสนงดงาม และถือเป็นเอกลักษณ์ของพระอารามแห่งนี้

ที่ฐานบันลังก์กะไหล่ทอง ภายในบรรจุพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์ 4 พระองค์ คือ

• พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2

• พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

• พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

• พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

• สมเด็จพระศรีสุลาไลย พระราชชนนีในรัชกาลที่ 3

• กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร พระธิดาในรัชกาลที่ 3 (ผู้อภิบาลล้นเกล้าในรัชกาลที่ 5 )

ภายใต้ฐานพุทธบัลลังก์หินอ่อน เป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรังคารของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7และพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7

เขตสังฆาวาส มีสถาปัตยกรรมที่สำคัญคือ ตำหนักอรุณ เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช

เขตสุสานหลวง นอกเขตกำแพงมหาสีมาธรรมจักร ด้านทิศตะวันตกของวัด เป็นที่ตั้งสุสานหลวงจุฬาลงกรณ์ ราชสันติวงศ์ โดยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้สร้างขึ้น เพื่อเป็นที่บรรจุพระอัฐิ พระสรีรังคาร ของเจ้านายในสายราชกุลของรัชกาลที่ 5

การเที่ยวชมวัดวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ไม่เพียงจะได้เรียนรู้ แต่ละยุผ่านงาน และสถาปัตยกรรม แต่ยังได้น้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ที่ทรงให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาพุทธศาสนาตลอด 235 ปีกรุงรัตน์โกสินทร์ไปในตัวด้วย