ตำนานเทศกาลกินเจ ประวัติความเป็นมาของประเพณี “เจี๊ยะฉ่าย”

ตำนานเทศกาลกนเจ หรอประเพณเจยะฉาย 

ตำนานเทศกาลกินเจ ประวัติความเป็นมาประเพณี “เจี๊ยะฉ่าย”

ช่วงนี้หลายคนอาจกำลังอยู่ในช่วงถือศีลกินเจกันอยู่ วันนี้จึงขอนำ ตำนานเทศกาลกินเจ เดือน 9 หรือ ประวัติความเป็นมาของประเพณีเจี๊ยะฉ่ายมาเล่าสู่กันฟังนะคะ

ประวัติเทศกาลกินเจ 

เทศกาลกินเจเดือน 9 ได้มีมานานแต่ในสมัยโบราณ โดยที่ตำนานได้เล่าไว้ต่อๆ กันมาว่า สมัยก่อนในมณฑลกังไสมีกษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงมีพระราชโอรส 9 พระองค์ ซึ่งพระราชโอรสแต่ละพระองค์ก็มีปรีชาสามารถ และในสมัยนั้นเองก็มีพวกแคว้นก่งเลี้ยดได้ยกทัพมาประชิดฝั่งทะเลของมณฑลกังไส ทำให้เหล่าพระราชโอรสทั้ง 9 พระองค์ได้ออกมาทำศึกหลายต่อหลายครั้งด้วยกัน และถึงแม้ว่ากำลังพลทหารของแคว้นก่งเลี้ยดจะเหนือกว่าแต่ก็ไม่ทำให้กองทัพของพระราชโทรสทั้ง 9 พระองค์นั้นทลายลงได้ 

หลายปีต่อมาชาวกังไสก็ได้เกิดความแตกแยก ไม่มีความสามัคคีกัน อีกทั้งยังมีการจ้องเอารัดเอาเปรียบกันจนบ้านเมืองเกิดความอ่อนแอ ทำให้ข้าศึกบุกเข้ามาทำลายและพระราชโอรสทั้ง 9 ออกรบเพื่อปกป้องบ้านเมืองจนสิ้นพระชนม์ด้วยธนูเพลิง จากนั้นด้วยความดีของพระราชโอรสทั้ง 9 ทำให้ได้ไปกำเนิดเป็นอมตะวิญญาณอยู่บนสรวงสวรรค์ เพื่อคอยดูแลชาวเมืองกังไสให้อยู่เย็นเป็นสุข 

อยู่มาวันหนึ่งถึงคราวที่เมืองกังไสต้องเกิดภัยพิบัติอีกครั้ง ทำให้อมตะวิญญาณของพระราชโอรสองค์ใหญ่ได้ลงมาที่เมืองกังไส ทรงปลอมแปลงตนเองให้กลายมาเป็นยาจก เพื่อเป็นการทดสอบจิตใจของชาวเมืองกังไสว่า ในเมืองยังหลงเหลือผู้ที่มีใจบุญสุนทานอยู่หรือไม่ และหากชาวเมืองกังไสยังคงมีคนใจบุญหลงเหลืออยู่บ้าง พระองค์เองก็จะได้ชี้แนะแนวทางให้ชาวเมืองได้พ้นจากภัยพิบัติในครั้งนี้ หลังจากที่พระองค์ได้แปลงกายแล้วพระองค์ก็ได้เดินทางไปยังบ้านเศรษฐีผู้หนึ่งที่มีนามว่า ลีฮั้วก่าย แล้วพระองค์ก็ได้ขออนุญาตเข้าพักอาศัยในบ้านพักคนเดินทางที่เศรษฐีลีฮั้วก่ายได้เคยปลูกไว้ โดยพระองค์ได้ขอพักอาศัยเพียงแค่ 1 คืนเท่านั้น 

เหล่าบริวารของเศรษฐีลีฮั้วก่ายเมื่อเห็นสภาพที่สกปรกของยาจก แถมยังมีน้ำเหลืองที่ไหลเยิ้มตามร่างกายจึงไม่ยอมให้เขาได้เข้าพัก ซึ่งกลับกันกับลีฮั้วก่าย ท่านเศรษฐีเจ้าของบ้านที่มีความยินดีและอนุญาติให้ยาจกผู้นี้เข้าพักได้ เมื่อยาจกผู้นี้ได้ไปถึงที่พักก็ได้ร้องขออาหารอีก 9 ชุดและตะเกียงอีก 9 ดวง โดยอ้างว่าตนไม่ได้มาเพียงคนเดียว แต่ยังมีน้องชายอีก 8 คนติดตามมาด้วย ซึ่งเศรษฐีผู้นั้นก็ได้จัดหามาให้ตามที่เขาต้องการ ถึงแม้ในใจจะคิดว่ายาจกผู้นี้น่าจะเป็นคนวิกลจริตก็ตาม

ตำนานเทศกาลกนเจ หรอประเพณเจยะฉาย 4

ต่อมาในเช้าวันรุ่งขึ้นเศรษฐีก็ได้ไปหายาจกผู้นั้น ก็ปรากฏว่าไม่พบยาจกอยู่ภายในที่พักนั้น แต่กลับพบชายผู้หนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกับผู้มีบุญ ทำให้เศรษฐีได้เข้าไปสอบถามซึ่งก็ได้ความว่า แท้จริงแล้วยาจกผู้นั้นเป็นเทพยดาที่จำแลงกายลงมาเพื่อช่วยเหลือชาวเมืองกังไสให้พ้นภัยวิบัติในครั้งนี้ โดยพระองค์ได้แนะนำท่านเศรษฐีให้ ถือศีลแลปฏิบัติธรรมให้สะอาดบริสุทธิ์ทั้งกายวาจาใจ เพื่อเป็นการชำระล้างบาปเคราะห์และรับประทานผัก ซึ่งผักเหล่านั้นจะต้องเป็นผักที่ไม่มีกลิ่นฉุน และไม่รับประทานของสดคาว ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ดื่มของมึนเมา และไม่ร่วมประเวณี นอกจากนั้นจะต้องทำจิตใจให้บริสุทธิ์พร้อมกับจุดตะเกียงทั้ง 9 ดวงเพื่อเป็นการบูชาด้วย 

เมื่อเศรษฐีได้ยินเช่นนั้นก็พร้อมรับฟังและทำตามคำแนะนำของพระองค์ จากนั้นร่างของชายผู้นั้นก็ได้หายไปในทันที ซึ่งวันที่ร่างของผู้ชายคนนั้นหายไปได้ตรงกับวันที่ 1 ค่ำ เดือน 9 ทำให้เศรษฐีเริ่มกินผัก (กินเจ) ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาโดยใช้เวลา 9 วันด้วยกัน ตามจำนวนตะเกียงที่มีอยู่ด้วยกัน 9 ดวง ซึ่งนั่นก็เป็นเหมือนตัวแทนสัญลักษณ์ของพระราชโอรสทั้ง 9 พระองค์ ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานเศรษฐีผู้นั้นก็เริ่มร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงชาวบ้านในมณฑลกังไสก็อยู่เย็นเป็นสุขและภัยพิบัติต่างๆ ก็เริ่มลดเลือนหายไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้เองทำให้ชาวบ้านเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง และเกิดความสงสัย จึงได้รวมตัวกันไปสอบถามเศรษฐีผู้นั้น 

ท่านเศรษฐีลีฮั้วก่ายได้เล่าความจริงทั้งหมดให้ชาวบ้านฟัง และยังเชิญชวนให้ชาวบ้านมณฑลกังไสร่วมกันรับประทานผักด้วย เมื่อชาวบ้านได้ฟังเช่นนั้นก็พร้อมที่จะทำตามคำแนะนำของเศรษฐีผู้นั้น ต่อมาไม่นานเหล่าชาวบ้านในมณฑลกังไสก็เริ่มทำมาค้าขายดีขึ้นเรื่อยๆ บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากภัยพิบัติทั้งหลาย ทำให้ชาวเมือมณฑลกังไสได้ปฏิบัติเช่นนี้สืบมา ในช่วงเวลานับตั้งแต่ 1 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปีเป็นเวลา 9 วัน จนกลายมาเป็นเทศกาลกินเจในปัจจุบัน

ตำนานเทศกาลกนเจ หรอประเพณเจยะฉาย 2

ประเพณีถือศีลกินเจที่โด่งดังไปทั่วโลกในบ้านเรา ก็คือเทศกาลกินเจที่จังหวัดภูเก็ต เดิมทีชาวภูเก็ตเรียกว่าประเพณี “เจี๊ยะฉ่าย” แปลว่ากินผัก ตรงกับในปฏิทินจีนที่เรียกว่า เก้าโง้ยโช่ยอีดถึงโช่ยเก้า สำหรับปี พ.ศ. 2559 วัน 1 ค่ำถึง 9 ค่ำ เทศกาลกินเจจะเริ่มตั้งแต่ วันที่ 1- 10 ตุลาคม และตลอดระยะเวลาทั้ง 9 วันจะมีการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตามหลักความเชื่อ อย่างเช่น

• พิธียกเสาโกเต้ง เป็นการยกเสาโกเต้งขึ้นที่หน้าอ๊ามแต่ละอ๊ามเพื่อเป็นการเข้าเจในคืนแรก โดยจะแขวนตะเกียงน้ำ 9 ดวงเพื่อเป็นการบูชาและอันเชิญดวงวิญญานของยกอ๋องฮ่องเต้และกิ๋วอ๋องไตเต ราชาผู้เป็นใหญ่ทั้งเก้า ซึ่งตะเกียงต้องถูกจุดให้สว่างตลอดระยะเวลา 9 วัน 9 คืน

• แต่ละบ้านจะทำพิธีเซ่นไหว้เจ้าและไหว้บรรพบุรุษของตน

• พิธีโขกู้น คือพิธีเลี้ยงอาหารทหารที่ปกปักรักษาในบริเวณปริมณฑล

• พิธีซ่งเก้ง คือพิธีการสดมนต์และอ่านรายชื่อผู้เข้าร่วมกินเจ

• คืน 5 ค่ำ หรือประมาณวันที่ 7 ของการกินเจจะมีการทำพิธีบูชาดาวหรือพิธีป้ายชิดแช้ เพื่อขอความเป็นสิริมงคลและรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ในพิธีจะมีการแจกกระดาษยันต์ให้กับผู้ที่มาร่วมทำพิธีกรรมนี้ดวย

ผู้เขียนมีความประทับส่วนตัวเมื่อสมัยเรียนมหาวิทยาลัยที่ภาคใต้ พอปิดเทอมเดือนตุลาคมก็ไปเที่ยวและพักบ้านเพื่อนที่ภูเก็ต และได้มีโอกาสได้เข้าร่วมเทศกาลกินเจกับครอบครัวของเพื่อนด้วย จำได้ว่าในวันสุดท้ายของเทศกาลจะมีพิธีเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่มาก จำได้ว่ามีการจุดประทัดเยอะมากจนกระดาษท่วมถนนเลย คุณแม่ของเพื่อนบอกว่าไม่ต้องกลัว ถ้าเราถือศีลกินเจแบบบริสุทธิ์ก็จะไม่ได้รับอันตรายจากประทัดเหล่านั้นเลย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก YouTube โดยคุณ Natthinun Sukprasit