ประวัติ ภูทอก วัดเจติยาคีรีวิหาร จังหวัดบึงกาฬ

ภูทอก วัดเจติยาคีรีวิหาร จังหวัดบึงกาฬ

ประวัติ ภูทอก วัดเจติยาคีรีวิหาร

ภูทอก วัดเจติยาคีรีวิหาร ก่อตั้งขึ้นโดย พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ เพื่อให้เป็นสถานบำเพ็ญเพียรภาวนาปฎิบัติธรรม ของพระภิกษุ สามเณรและผู้ที่ตั้งใจมาปฏิบัติธรรม จุดเด่นของภูทอกคือภูเขาหินทรายที่เต็มไปด้วยหน้าผาหิน มีสะพานไม้และบันไดขึ้นชมทัศนียภาพรอบๆ แบบ 360 องศา มีทั้งหมด 7 ชั้น ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 5 ปี เปรียบดั่งดินแดนสวรรค์ 7 แบ่งเป็นภูทอกใหญ่ และภูทอกน้อย ภูทอกที่เราสามารถขึ้นไปปฏิบัติธรรม และชมทัศนียภาพโดยรอบได้คือภูทอกน้อย ส่วนภูทอกใหญ่ยังไม่เปิดให้เข้าไป

สะพานและบันไดเวียนรอบภูทอกสร้างจากไม้ปักไปในหิน พื้นที่บางส่วนตรงข้างล่างสะพานจะมีเหล็กยึดเจาะเข้าไปในหินอีกที ต้องยกย่องในความสามารถของผู้ที่สร้างขึ้นด้วยวิธีแบบชาวบ้าน ไม่มีวิศวกรและเครื่องจักรใดๆ ทั้งสิ้น จากชั้น 4 ขึ้นไปชั้น 5 จะเป็นบันไดสูงชัน ชั้น 5 เป็นที่ตั้งของถ้ำพระวิหาร ข้างในมีพระพุทธรูปและภาพถ่ายของพระอาจารย์จวน ผู้ก่อตั้งวัดภูทอกแห่งนี้ ที่นี่เป็นหนึ่งในจุดปฎิบัติธรรมของผู้แสวงบุญ

จุดสำคัญอีกแห่งหนึ่งของภูทอกคือ พุทธวิหาร มีข้อมูลบอกว่าเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุ หลวงปู่จวนบอกว่า “พุทธวิหารนี้ เป็นที่ที่ปัจเจกพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งเสด็จมาดับขันธ์นิพพาน” เป็นคำพูดของหลวงปู่ขาวที่เคยบอกไว้ พุทธวิหารแห่งนี้มีลักษณะแปลกตา มีแท่นหินวางไว้ข้างบนคล้ายกับพระธาตุอินทร์แขวนที่เมียนมาร์

ประวัติ ภูทอก วัดเจติยาคีรีวิหาร

ก่อตั้งขึ้นในปีพุทธศักราช 2483 โดยพระอาจารย์จวน ที่ปฏิบัติธรรมอยู่ที่ภูวัว อำเภอเซกา แล้วเกิดนิมิตรฝันเห็นปราสาทที่สวยงามตั้งอยู่ 2 หลัง ตั้งอยู่ทางภูทอกน้อย พระอาจารย์จึงเดินทางมาพิสูจน์แล้ว พบกับทัศนียภาศที่สวยงาม ร่มรื่น เงียบสงบ เหมาะกับการปฏิบัติธรรม พระอาจารย์จวน และพระครูศริธรรมวัฒน์ จึงปักกรดบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ในถ้ำ บนภูทอก ชาวบ้านคำแคนเห็นพระสงฆ์มาปฎิบัติธรรมในถ้ำ ก็เกิดความศัทธา นำภัตตาหารมาถวาย

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2512 ชาวบ้านได้ร่วมมือร่วมใจ ช่วยกันสร้างบันไดจนถึงชั้นที่ 6 และปลูกสร้างเสนาสนะให้เป็นที่อยู่อาศัยของภิกษุสงฆ์ไว้ที่ชั้น 5 โดยใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 2 เดือน 10 วัน ในปี พ.ศ. 2513-2514 พระอาจารย์จวน และชาวบ้านช่วยกันสร้างระบบน้ำประปาขึ้นมาภายในวัด ต่อมาทางกองทัพอากาศดอนเมืองได้ถวายเครื่องไฟฟ้าแรงสูง สำหรับใช้ภายในวัด

ชาวบ้านเล่าว่า ช่วงแรกๆยังไม่มีบันได เวลาชาวบ้านไปถวายถวายภัตตาหารก็จะยึดเถาวัลย์ไต่ขึ้นไป จากคำบอกเล่าของคุณลุงท่านหนึ่งซึ่งเป็น 1 ในช่างที่ร่วมสร้างสะพาน คุณลุงบอกว่า ได้เริ่มสร้างสะพานไม้รอบเขาจากชั้น 5 โดยการใช้สิ่วสะกัดหินอย่างยากลำบาก ฝังเสาขนาดใหญ่ลงไปเพื่อเป็นตัวยึด นั่งร้านหรือไม้ไต่ ทำจากไม้เนื้อแข็งสองท่อนผูกปลายทั้งสองข้างโยงกับเสาไม้ จากนั้นก็ใช้สิ่วเจาะหินเป็นร่องๆ เพื่อให้สอดไม้เข้าไปได้ สะพานแต่ช่วงจะทำเป็นคานยาวประมาณ 1 เมตร ตรงกลางมีคานไม้รองรับอีกชั้นหนึ่ง พอสร้างเสร็จแล้วก็ขยับนั่งร้านสร้างต่อไปเรื่อยๆ จนล้อมรอบทั้งเขา ต้องใช้ความเพียรพยายามอยู่นานถึง 3 เดือน จึงสร้างสะพานไม้ชั้น 5 เสร็จ ในปีนั้นชาวบ้านจึงได้เดินเวียนเทียนออกพรรษา รอบภูทอกบนสะพานไม้ที่ร่วมใจกันสร้างขึ้นมา

ภูทอก วัดเจติยาคีรีวิหาร จังหวัดบึงกาฬ

วัดจากฐานถึงยอด ภูทอกมีความสูง 460 เมตร ฐานชั้นที่ 6 วัดโดยรอบได้ 800 เมตร ฐานชั้นที่ 6 วัดโดยรอบยาวถึง 800 เมตร มีเนื้อที่ 78 ไร่ 3 งาน 18 ตารางวา พื้นที่บริเวณภูทอกรายล้อมด้วยที่ราบอันกว้างใหญ่ที่เต็มไปด้วยผืนป่า ปัจจุบันกลายเป็นสวนยางพารา ซึ่งจังหวัดหนองคายเป็นจังหวัดในภาคอีสานที่มีพื้นที่การปลูกยางพารามากที่สุดโดยเฉพาะที่อำเภอบึงกาฬ ไม่ไกลออกไปจากภูทอกจะมีทั้งภูวัว ภูเขาลังกา เป็นภูเขาที่อุดมสมบูรณ์

คนสมัยก่อนมักจะมาหาสมุนไพรที่นี่เพื่อเอาไปปรุงเป็นยา อย่างบอกว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่ปฎิบัติธรรม ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว ดังนั้นผู้ที่อยากจะสัมผัสกับความสงบ หรือชมความงามของสถานที่นี้ ควรที่จะสำรวม ให้ความเคารพสถานที่ ไม่ส่งเสียงดังซึ่งจะเป็นการรบกวนผู้ปฏิบัติธรรม รวมถึงการมีสติเวลาที่เดินไปตามสะพานไม้ ที่อาจจะผุ ลื่น จนเกิดอันตรายได้ตลอดเวลา

ภูทอกเป็นสถานที่ที่ยังเป็นธรรมชาติและเงียบสงบ ที่พวกเราควรช่วยกันดูแล และอนุรักษณ์ไว้ ไม่ควรเอาของกินขึ้นไป ทิ้งขยะหรือขีดเขียนตามหินต่างๆ หากมีใครเห็นขยะก็ช่วยกันเก็บลงมา ให้ภูทอกอยู่คู่บึงกาฬต่อไป

ที่ตั้ง : วัดภูทอก วัดเจติยาคิรีวิหาร บ้านคำแคนพัฒนา หมู่ที่ 6 ตำบลนาแสง อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ

การเดินทาง : ภูทอก วัดเจติยาคีรีวิหาร อยู่ห่างจากตัวเมืองหนองคายประมาณ 186 กิโลเมตร การเดินทางด้วยรถยนต์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 212 ทาง หนองคาย – บึงกาฬ – ศรีวิไล ห่างจากอำเภอศรีวิไลออกไปประมาณ 50 กิโลเมตร ไปทางแยกซ้าย ขับผ่านบ้านนาสิงห์ บ้านสันทรายงาม จนถึงบ้านนาคำแคน ที่ห่างจากภูทอกเป็นระยะทางอีก 20 กิโลเมตร

Tag #ภูทอก #บึงกาฬ #ประวัติ

วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร จังหวัดสิงห์บุรี