การเตรียมตัวเที่ยวเมียนมาร์ เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับประเทศพม่า

Myanmar shwedagon

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวประเทศพม่า และก็รู้สึกประทับใจมากกว่าที่คาดไว้ การเตรียมตัวเที่ยวเมียนมาร์ เป็นเรื่องที่สำคัญ เราจะได้รู้ก่อนว่าต้องเจออะไรบ้าง วันนี้จึงนำเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับประเทศพม่า การเตรียมตัวก่อนเดินทาง รวมถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เกี่ยวกับประเทศพม่ามาฝากกัน

พาสปอร์ต และ วีซ่า

ผู้ที่ถือพาสปอร์ตไทย สามารถพำนักในพม่าได้สูงสุด 14 วัน โดยไม่ต้องขอวีซ่า แต่ต้องเป็นการเดินทางโดยเครื่องบิน เข้าสนามบินนานาชาติเท่านั้น ถ้าเข้าประเทศพม่าด้วยวิธีอื่นก็ต้องขอวีซ่าแบบ VISA ON ARRIVAL การขอวีซ่านักท่องเที่ยวสามารถพำนักในเมียนมาร์นาน 30 วัน โดยยื่นเรื่องขอจากเว็บไซต์สถานฑูตเมียนมาร์ โดยอัพโหลดรูปภาพ ชำระเงินด้วยบัตรเครดิต เมื่อได้รับการอนุมัติก็พิมพ์วีซ่านั้นออกมา แต่ว่าเป็นวีซ่าแบบที่ไม่ใช่สติกเกอร์ที่ติดลงบนพาสปอร์ต เมื่อเดินทางไปถึงก็แสดงวีซ่ากับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ก็จะลงตราประทับบนพาสปอร์ตว่าพักได้ตั้งแต่วันไหนถึงวันไหน

เจ้าตรวจคนเข้าเมือง จะเช็คพาสปอร์ตนักท่องเที่ยวทุกสนามบิน ทั้งขาเข้าและขาออก ส่วนมากจะดูว่าอยู่เกินกำหนดหรือเปล่า มีบางสนามบินจะมีการจดบันทึกชื่อนักท่องเที่ยว ที่มัณฑะเลย์เวลาจะซื้อตั๋วข้ามไปเที่ยวที่มิงกุนต้องแสดงพาสปอร์ตด้วยนะ เวลาไปเที่ยวจะชอบเก็บพาสปอร์ตไว้ที่ตู้เซฟของโรงแรม แล้วพกแต่สำเนาติดตัวไป คนขายตั๋วก็ยอมรับนะ และที่นักท่องเที่ยวทุกคนควรรู้ก็คือ นักท่องเที่ยวควรพักในโรงแรมเท่านั้น หากจะไปพักตามบ้านคน ต้องได้รับการอนุญาติจากตำรวจหรือผู้ใหญ่บ้านเสียก่อน

แท็กซี่

แท็กซี่ แท็กซี่ในเมียนมาร์ไม่มีมิเตอร์ เวลาเรียกแท็กซี่ก็สามารถต่อรองราคาได้ สนามบินส่วนมาก จะมีป้ายบอกราคาไว้อย่างชัดเจน ตัวอย่าง ราคาแท็กซี่จากสนามบินในเมียนมาร์

• สนามบิน – โรงแรมใน Mandalay ราคาอยู่ที่ 12000 จ๊าท หรือ 10 ดอลล่าร์ ถ้าแชร์รถกับคนอื่นๆ ราคาคนละ 4000 จ๊าท หรือ 4 ดอลล่าร์ แต่กว่ารถจะเต็มอาจจะรอนาน เมื่อก่อนเคยมี shuttle bus ของแอร์เอเชีย แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว

• สนามบิน – โรงแรมในย่างกุ้ง ราคา 8000 จ๊าท

• สนามบิน Nyaung U – ไปพุกาม ทั้ง Old Bagan หรือ New Bagan ราคา 7000 จ๊าด ถ้าไปแค่เนียงอู ราคา 5000 จ๊าท

• สนามบิน Heho – โรงแรมในยองชเว ราคา อยู่ที่ 15000 จ๊าท ถ้าใช้บริการรถโรงแรมอาจแพงถึง 20000 เจอมาแล้ว ขากลับจองกับเอเย่นต์ท่องเที่ยวจะถูกกว่า ความจริงก็ไม่แพงมากนั่งกันเกือบชั่วโมง แต่พอคิดเป็นเงินจ๊าดแล้วมันดูเยอะ แท็กซี่ส่วนมากไม่ค่อยเปิดแอร์ แต่จะใช้วิธีเปิดหน้าต่างแทน การขับรถที่พม่าจะขับชิดเลนขวา แต่รถยนต์ส่วนมากจะเป็นรถพวงมาลัยด้านขวา เวลาแซงที่ก็ค่อนข้างลำบาก แต่คนที่นี่ขับรถไม่ค่อยเร็ว อาจจะได้ยินเสียงบีบแตรรถบ่อยๆ เป็นกาบอกอีกฝ่ายว่า ฉันมาแล้วนะ

ผู้คน

คนพม่าชอบและมีทัศนคติที่ดีกับคนไทย คนพม่ารุ่นก่อนๆจะเรียกคนไทยว่า “โยเดีย” หรือ โหย่-ดี่-หย่า มาจากคำว่า อโยธยา แต่ตัด “อ” ออกไป ส่วนคนรุ่นใหม่จะเรียกว่า “ทายน์” (htain) เวลาไปเที่ยวก็บอกได้เลยว่าเราเป็นคนไทย

ผู้ชายเมียนมาร์ยังนุ่งโสร่งกันอยู่ สาวๆไม่ต้องตกใจหากเห็นหนุ่มเมียนมาร์เปิดโสร่งกระพือรับลมกลางถนน โดยเฉพาะรุ่นเดอะที่เคยอ่านมาว่าไม่ใส่กุงเกงใน

คนพม่ายังคงเคี้ยวหมากกันอยู่ แม้กระทั่งเด็กวัยรุ่นผู้ชาย เวลาไปไหนมาไหนจะเห็นว่ามีร้านจีบหมากเป็นคำๆขายอยู่ทั่วไป คล้ายกับร้านบุหรี่เล็กๆในบ้านเรา

เที่ยววัด

เวลาเข้าวัดต้องถอดรองเท้า ถุงเท้า ส่วนมากจะให้ถอดกันตั้งแต่หน้าประตูวัดกันเลย แม้กระทั่งการขึ้น-ลง บันไดวัดบนเขาโปป้ากว่า 1400 ขั้น ซึ่งระหว่างทางจะมีทั้งฉี่หรืออึของลิง งานนี้ทิชชู่เปียกช่วยได้เยอะ ก่อนเข้าวัดส่วนมากจะมีที่ให้ฝากรองเท้า โดยเราจ่ายเงินเป็นค่าบริจาคให้กับวัด แต่ถ้าใครกลัวรองเท้าหาย หรือไม่อยากจ่ายเงินก็หาถุงพลาสติกไว้ใส่รองเท้าติดตัวไปด้วย แต่บางแห่งก็ห้ามถือถุงรองเท้าด้วยนะ เช่นที่เจดีย์มิงกุน ที่วัดมหามัยมุนี เราสามารถถือถุงรองเท้าเข้าไปได้ระหว่างทางก็จะเป็นร้านขายของที่ระลึก แต่ก่อนเข้าไปไหว้พระมหามัยมุนี ก็ต้องเอารองเท้าไปฝากที่ล็อคเกอร์อีกที

การถ่ายรูป

วัดบางแห่งในเมียนมาร์ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมกล้องถ่ายภาพ เช่น ที่วัดมหามัยมุนี ค่าธรรมเนียม 1 ดอลล่าร์ ไม่ว่าจะเป็นกล้องจากมือถือ หรือกล้องแบบมืออาชีพ บางวัดก็คิดค่าธรรมเนียมเฉพาะกล้องแบบมืออาชีพ ที่พิพิธภัณฑสถานเเห่งชาติของพม่า (National Museum) ห้ามนำกล้องเข้าไปไม่ว่าจะเป็นกล้องอะไร ต้องเก็บไว้ในล็อคเกอร์ อนุญาติให้ถ่ายรูปจากมือถือได้ แต่ห้ามถ่ายวิดีโอ และบางห้องก็ห้ามถ่ายรูปเด็ดขาด น่าเสียดายมาก

การถ่ายรูปคน เช่นแม่ค้า ร้านขายของในตลาด แม่ค้าก็ยินดีให้ถ่ายรูป แต่ส่วนมากแอดมินก็จะขออนุญาติก่อน แต่บางคนก็เขินๆ บางวัดจะมีเด็กแต่งตัวสวย ปะแป้งทานาคามาให้คนถ่ายรูปแลกตังค์

เงิน เงิน เงิน

ที่พม่าใช้เงินสกุล Kyat (จ๊าท) ช่วงที่เดินทาง 1 บาท = 38.5 จ๊าท พม่าจะใช้ธนบัตรอย่างเดียวไม่มีเหรียญ จะเริ่มตั้งแต่ฉบับละ 50, 100, 200, 300, 500, 1000, 2000, 5000 และ 10000 ธนบัตรใบเล็กๆจะค่อนข้างสกปรก ความจริงมีเล็กกว่านั้นแต่ไม่ค่อยใช้กันแล้ว เวลาไปเที่ยวพม่าก็ควรแลกเงินดอลล่าร์ใหม่ๆ ใบละ 100 ดอลล่าร์ ห้ามยับ ห้ามพับ จริงๆแล้วเงินสกุลอื่นๆเช่น ยูโร ก็นำไปแลกได้ พอไปถึงสนามบิน หลังรับกระเป๋าอะไรเรียบร้อยแล้วก็แลกที่สนามบินซักเล็กน้อย ส่วนตัวแล้วแลกก่อน 100 ดอลล่าร์ ให้พอกับค่าแท็กซี่ค่ากินในวันแรกๆ ที่เหลือค่อยไปหาแลกเอาตามธนาคารในเมือง

ตามโรงแรม บริษัททัวร์ การจองตั๋วเครื่องบินกับเอเย่นต์ สามารถจ่ายเป็นดอลล่าร์เลยก็ได้ ถ้าคิดราคาเป็นดอลล่าร์อยู่แล้ว แต่บางที่ บางอย่าง เช่นการจ่ายค่าเข้าเมืองที่พุกาม ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 20 USD แต่พอจ่ายเป็นเงินจ๊าดจะอยู่ที่ 25000 Kyat ซึ่งวันนั้นอัตราแลกเปลี่ยนจะอยู่ที่ 1 USD = 1359 Kyat ค่าแท็กซี่จากสนามบินก็เหมือนกันจ่ายเป็นจ๊าดจะถูกกว่า การจ่ายเงินค่าโรงแรมด้วยบัตรเครดิตมักจะถูกชาร์จอีกประมาณ 4%

ภาษา

คนพม่าบางคนพูดภาษาไทยได้ การสื่อสารส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษ ไก๊ด์หลายคนพูดภาษาฝรั่งเศสคล่องกว่าภาษาอังกฤษเสียอีก เท่าที่ได้ไปแอบฟังมา ภาษาพม่าที่ควรรู้

สวัสดี = มิงกะลาบา Mingalabar (ใช้ได้ทั้งวัน)

ขอบคุณ = คี ซู ติน บา เด Kyae zoo tin par dae หรือพูดสั้นๆว่า เค ซู เด

เท่าไหร่? = Balao leh ?

คุณสบายดีไหม = Nay kaung lar ?

อาหาร

ดูเหมือนว่าพม่าจะไม่มีอาหารประจำชาติ เท่าที่เห็นที่เป็นของพม่าเลยน่าจะเป็นอาหารของฉาน นอกจากนั้นจะเป็นอาหารที่ประยุกต์มาจากเพื่อนบ้านซะมากกว่า อาหารจะค่อนข้างจะมันและเค็ม ในสมัยก่อนคนพม่าที่ฐานะดี จะมีน้ำมันตุนไว้ทำกับข้าวแบบเหลือเฟือ ดังนั้นการทำอาหารด้วยน้ำมันก็จะบ่งบอกฐานะของคนในยุคนั้น อาหารข้างทางจะมีพวกทอด ขนมจีน ข้าวแกง แล้วก็ที่เห็นคนเมียนม่าร์นั่งกินกันเยอะๆ คือเครื่องใน ราคาอาหารในร้านที่ค่อนข้างดูดีหน่อย ราคาไม่ค่อยต่างกันมาก ประมาณ 5000 – 8000 จ๊าท ให้มาเยอะมาก แต่ถ้าเป็นพวกอาหารทะเลจะค่อนข้างแพงหน่อย

ฤดูกาล สภาพอากาศในพม่าจะคล้ายๆกับทางภาคเหนือของบ้านเรา

พ.ย – ก.พ อากาศจะเย็นๆ

มี.ค – เม.ย อากาศจะร้อนมาก ช่วงเดือนเมษายนจะมีวันเทศกาลแบบยาวๆเป็น 10 กว่าวัน

พ.ค. – ต.ค. เป็นหน้าฝน

สำหรับคนที่ต้องการสื่อสารกับคนที่เมืองไทยลืมบอกไปว่า ร้านกาแฟบางแห่งมี WiFi ให้ใช้ฟรีด้วย เท่าที่ไปพักมาทุกโรงแรม WiFi แรงดีไม่มีปัญหา ส่วนซิมการ์ดพม่า แอดมินไม่ได้ลองใช้เลยบอกไม่ได้ หวังว่าข้อมูล และ การเตรียมตัวเที่ยวเมียนมาร์ จะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่กำลังวางแผนเดินทาง ถ้าขาดตกเรื่องไหนก็ถามมาได้นะคะ ทริปนี้เดินทางภายในประเทศด้วยเครื่องบิน พักอยู่ในพม่า 12 วัน แล้วจะทะยอยนำมาเล่าให้ฟังนะคะ