กระเจี๊ยบเขียว ผักพื้นบ้านไทยๆ กับคุณประโยชน์อันน่าทึ่ง

กระเจี๊ยบเขียว ผักพื้นบ้านที่คนไทยบริโภคกันมาแสนนาน และเป็นผักส่งออกที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย โดยเฉพาะที่ญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นนิยมบริโภคกระเจี๊ยบเขียวกันมาก เนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารสูง อีกทั้งยังมีคุณค่าทางสมุนไพรอีกด้วย อีกที่หนึ่งคือประเทศจีน ในมณฑลกวางเจา กระเจี๊ยบเขียวที่นำเข้าจากเมืองไทย 6 ฝัก ถูกนำไปขายราคาสูงถึง 3000 บาท เนื่องจากคนจีนเชื่อกันว่าเป็นยาบำรุงอย่างดีชนิดหนึ่ง โดยวิธีส่งออกแบบสดๆ หรือนำไปลวกกับน้ำร้อนแล้วนำไปแช่แข็ง โดยส่วนที่เชื่อกันว่ามีคุณค่าทางยามากที่สุดคือส่วนที่เป็นยางลื่นๆ นั่น ก่อนอื่นเราไปทำความรู้จักกับกระเจี๊ยบเขียวกันก่อน

Okra

กระเจี๊ยบเขียวมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษหลายชื่อ เช่น Okra, Ochro, Gumbo, หรือ Lady’s finger ที่ประเทศกรีซ หรือประเทศที่อยู่ทางแถบเมดิเตอร์เรเนียน เรียกว่า Bamies ซึ่งจะมีเมนูอาหารกรีซดังๆหลายเมนูที่ทำมาจากกระเจี๊ยบเขียว ส่วนคนอินเดียนั้นเรียกว่า Bhindi ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Abelmoschus esculentus ชื่อท้องถิ่นที่คนไทยเรียกกันนั้นอยู่หลายชื่อ เช่น กระเจี๊ยบมอญ, มะเขือมอญ, มะเขือทะวาย ทางภาคเหนือเรียกว่า มะเขือมื่น

ลักษณะของกระเจี๊ยบเขียว

มีอยู่หลายสายพันธุ์ด้วยกัน เพาะปลูกกันมากในทวีปเอเซียตอนใต้ อินเดีย เนปาล พม่า ไทย ทวีปแอฟริกาตะวันตก รวมถึงประเทศเอธิโอเปียและอียิปต์ กระเจี๊ยบเขียวเป็นผักยืนต้น มีอายุราวๆ 1 ปี ใบกว้างมีลักษณะเป็นแฉกคล้ายใบละหุ่ง ดอกมีสีเหลืองอ่อนมีลักษณะคล้ายดอกชบา ต้นกระเจี๊ยบเขียว มีความสูงตั้งแต่ 40 เซนติเมตร ไปจนถึงถึง 2 เมตร ลำต้นมีขนสั้น มีหลายสีแตกต่างกันกันไปตามสายพันธุ์ ทำให้ความสูงของต้น สีและความยาวของฝักต่างกัน พันธ์พื้นเมืองเดิมจะมีเหลี่ยมอยู่บนฝักมากถึง 7-10 เหลี่ยม พันธุ์ที่ใช้เพาะปลูกเพื่อส่งออกฝักสดและแช่แข็ง จะต้องเป็นพันธ์ที่มีฝัก 5 เหลี่ยม สีเขียวเข้ม มีเส้นใยน้อย ลำต้นเตี้ย ผิวฝักมีขนละเอียด ฝักดก ให้ผลผลิตสูง ซึ่งได้แก่ พันธุ์ของประเทศไทย และ พันธุ์ลูกผสมชั่วที่หนึ่ง จากประเทศญี่ปุ่น

กระเจี๊ยบเขียวเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในอากาศกึ่งร้อนชื้นปานกลาง หรือที่อุณหภูมิ 20-30 องศาเซลเซียส ถ้าหากอากาศหนาวมากจะหยุดการเจริญเติบโต เมื่อกระเจี๊ยบเขียวมีอายุประมาณ 40 วันจะเริ่มออกดอก และมีฝักยาวหลังจากดอกบานได้ 5-6 วัน ฝักอ่อนของกระเจี๊ยบเขียวจะมีความกรอบ รสชาติดี เมื่อแก่แล้วจะมีความเหนียวไม่นิยมนำมารับประทาน ทั้งใบและดอกของกระเจี๊ยบเขียวนั้นมีสรรพคุณด้านสมุนไพร

ฝักของกระเจี๊ยบเขียวอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งมีทั้งคาร์โบไฮเดรต เส้นใย โปรตีน โฟเลต แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมกนีเซียม ธาตุเหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี1 วิตามินบี2 วิตามินซี และที่สำคัญเลยก็คือ กลูต้าไธโอน และยังมีสารอาหารชนิดอื่นๆอีกมากมาย นอกจากนี้แล้วยังประกอบไปด้วย gums และ pectins ในปริมาณที่สูงทำให้อาหารที่ประกอบขึ้นมาจากกระเจียบเขียวมีลักษณะเป็นเมือก ซึ่งเมือกหรือยางของกระเจี๊ยบเขียวนี่่เองที่มีสรรคุณทางสมุนไพร

Okra plant

ประโยชน์ของกระเจี๊ยบเขียว

1. ช่วยในเรื่องการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งจะส่งผลทำให้ร่างกายของเราแก่ช้าลง และยังช่วยซ่อมแซ่มเซลล์ที่สึกหรอภายในร่างกายของเรา นอกจากนี้ยังช่วยขจัดสารพิษที่อยู่ในร่างกาย พร้อมกับช่วยต้านมะเร็งได้ เนื่องจากในกระเจี๊ยบเขียวมีกลูต้าไธโอนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญนั่นเอง

2. ช่วยในเรื่องของการดูดซึมสารพิษที่ตกค้างอยู่ภายในร่างกาย และขับถ่ายออกทางอุจจาระ ซึ่งช่วยให้ไม่มีสารพิษตกค้างอยู่ภายในลำไส้ และยังช่วยให้เราขับถ่ายได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากในกระเจี๊ยบเขียวมีเส้นใยอาหารชนิดที่ละลายในน้ำ และไม่ละลายในน้ำอยู่จำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น เพคติน และเมือก เป็นต้น

3. ช่วยรักษาโรคกระเพาะ เยื้อบุกระเพาะและลำไส้อักเสบได้เป็นอย่างดี เพราะเมือกของกระเจี๊ยบเขียวจำพวกเพคตินนั้นจะช่วยเคลือบแผลที่อยู่ในกระเพาะ ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการลุกลามของแผลในลำไส้ และกระเพาะได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย

4. ช่วยเสริมสร้างเม็ดเลือดแดง เนื่องจากในกระเจี๊ยบเขียวนั้นมีโฟเลตที่ค่อนข้างสูง โดยกระเจี๊ยบเขียวฝักแห้งจำนวน 40 ฝักจะเทียบเท่ากับปริมาณที่ร่างกายของเราต้องการโฟเลตในแต่ละวันเลยทีเดียว

5. การรับประทานฝักของกระเจี๊ยบเขียวเป็นเวลาติดต่อกัน 15-30 วัน จะช่วยขับพยาธิได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะพยาธิตัวจี๊ด

6. สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน คลอเรสเตอรอลสูง หากรับประทานเป็นประจำก็จะช่วยลดการดูดซึมคลอเรสเตอรอลและน้ำตาลเข้าสู่ร่างกายได้อีกด้วย

7. สำหรับสตรีมีครรภ์ร่างกายจะต้องการโฟเลตมากกว่าคนปรกติถึงสองเท่า หากรับประทานกระเจี๊ยบเขียวเป็นประจำในขณะที่กำลังตั้งครรภ์อยู่นั้น จะช่วยในเรื่องของการเสริมสร้างการพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้เป็นอย่างดีเลย เนื่องจากกระเจี๊ยบเขียวเป็นอาหารที่ให้โฟเลตสูง 

FriedOkra

สารอาหารในกระเจี๊ยบเขียว จากรายงานของ USDA Food Composition Databases กระเจี๊ยบเขียว ดิบ100 กรัม มีส่วนประกอบโดยประมาณ ดังต่อไปนี้

• พลังงาน 31 กิโลแคลอรี่

• น้ำ 90.17 กรัม

• โปรตีน 2 กรัม

• คาร์โบไฮเดรต 7.03 กรัม

• ไขมัน 0.1 กรัม

• ไฟเบอร์ หรือ เส้นใยอาหาร 3.2 กรัม

• น้ำตาล 1.2 กรัม

แร่ธาตุต่างๆ

• แคลเซี่ยม 81 มิลลิกรัม

• แมกนีเซี่ยม 57 มิลลิกรัม

• ธาตุเหล็ก 0.8 มิลลิกรัม

• ฟอสฟอรัส 63 มิลลิกรัม

• โพแทสเซี่ยม 303 มิลลิกรัม

• โซเดี่ยม 8 มิลลิกรัม

• ธาตุสังกะสี 0.6 มิลลิกรัม

• ธาตุแมงกานีส 0.99 มิลลิกรัม

• ธาตุทองแดง 0.094 มิลลิกรัม

• ธาตุเซเลเนี่ยม 0.7 ไมโครกรัม

วิตามิน

• วิตามิน C (Ascorbic) 21.1 มิลลิกรัม

• วิตามิน B1 (Thiamine) 0.20 มิลลิกรัม

• วิตามิน B2 (Riboflavin) 0.06 มิลลิกรัม

• วิตามิน B3 (Niacin) 1.0 มิลลิกรัม

• วิตามิน B5 (Pantothenic acid) 0.245 มิลลิกรัม

• วิตามิน B6 (Pyridoxine) 0.215 มิลลิกรัม

• วิตามิน E (alpha tocopherol) 0.36 มิลลิกรัม

• วิตามิน K (Phylloquinone) 53.0 ไมโครกรัม

• วิตามิน A 375 IU

• ลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) 516 ไมโครกรัม

• โฟเลต 88 ไมโครกรัม

• เบต้าแคโรทีน 225 ไมโครกรัม

• วิตามิน A 375 IU

• โคลีน 12.3 มิลลิกรัม

สำหรับใครที่ยังไม่เคยหรือไม่กล้าลองรับประทานกระเจี๊ยบเขียวสดๆ นั้นให้ลองเริ่มต้นการรับประทานโดยการนำกระเจี๊ยบเขียวไปชุปแป้งทอดและนำไปรับประทานคู่กับน้ำพริกจะช่วยให้รับประทานกระเจี๊ยบเขียวได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม และสำหรับใครที่ชื่นชอบการรับประทานกระเจี๊ยบเขียวอยู่แล้วก็ควรที่จะรับประทานเป็นประจำเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดของกระเจี๊ยบเขียว อย่างไรก็อย่างลองไปรับประทานกันดูนะ