มิชลินสตาร์ (Michelin Star) สัญลักษณ์แสดงถึงมาตรฐานร้านอาหารคุณภาพยอดเยี่ยม เกิดจากไอเดียของบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์มิชลิน อังเดรและเอดเวิร์ด มิชลิน สองพี่น้องชาวฝรั่งเศส ที่ต้องการกระตุ้นยอดขายยางรถยนต์ จึงมีความคิดที่จะให้ให้ผู้คนขับรถไปรับประทานอาหารและไปเที่ยวนอกบ้าน จึงจัดทำหนังสือแนะนำร้านอาหารที่มีชื่อว่า มิชลินไกด์ (The Michelin Guide Book) ขึ้นในปี ค.ศ. 1900 ซึ่งเป็นแผนที่บอกเส้นทางของสถานี่ต่างๆ เช่น โรงแรม ที่พัก รวมถึงร้านอาหารด้วย ต่อมาได้มาการแพร่ขยายไปในประเทศอื่นๆในยุโรป และอเมริกาเหนือในปี 2006 แล้วก็ข้ามมายังฝั่งเอเซีย ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นเกณฑ์วัดความเป็นเลิศ ที่ทั่วโลกนำไปใช้อ้างอิง ซึ่งปัจจุบันการแจกดาวของมิชลินจะมีเฉพาะเมืองใหญ่ๆเท่านั้น เช่นที่ นิวยอร์ค ชิคาโก ลอนดอน ปารีส โตเกียว ฮ่องกง
ด้วยชื่อเสียงของมิชลินสตาร์ ที่ทั่วโลกให้การยอมรับ ดังนั้นผู้ที่จะมาตัดสินหรือให้ดาวกับแต่ละร้านนั้น จะต้องเป็นนักชิมของมิชลินที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี เพื่อรักษามาตรฐานเดียวกันเอาไว้ ด้วยการเข้าไปใช้บริการแบบไม่เปิดเผยตัวตน โดยนักชิมจะใช้เวลากับแต่ละร้าน 3-4 ภายใน 1 ปี เพื่อกลับไปตรวจสอบความเสมอต้นเสมอปลาย ของคุณภาพและรสชาติอาหาร รวมทั้งการให้บริการ
การกำหนดดาวให้ร้านอาหารและเชฟ แบ่งเป็น 3 ขั้น โดยดูจากองค์ประกอบหลายๆด้าน นับตั้งบรรยากาศภายในร้าน รสชาติของอาหาร การตกแต่งอาหาร ลักษณะเฉพาะตัวของอาหาร การให้บริการ หรือแม้กระทั่งเทคนิคในการสร้างสรรเมนูอาหาร และความเสมอต้นเสมอปลายของรสชาติอาหาร แต่ละระดับของมิชลินสตาร์ จะมีความหมายดังต่อไปนี้
• ระดับ 1 ดาว เป็นร้านอาหารระดับที่ดีมาก
• ระดับ 2 ดาว เป็นร้านอาหารที่ดีเลิศ
• ระดับ 3 ดาว เป็นร้านอาหารที่พิเศษสุด ไม่เหมือนใคร รับประกันว่าจะได้รับประสบการณ์ที่คุ้มค่า พิเศษสุด
เชฟที่ทำอาหารในร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ ก็จะได้รับการยกย่องว่าเป็น เชฟระดับมิชลินสตาร์ ไปโดยอัตโนมัติ ร้านอาหารที่ได้รับดาวจากมิชลิน ต้องรักษาคุณภาพมาตรฐานของตัวเองเอาไว้ มิเช่นนั้นก็จะถูกเรียกคืนได้
ล่าสุดรัฐบาลไฟเขียวอนุมัติงบประมาณกว่า 143 ล้านบาท ให้ทางบริษัทมิชลิน ทราเวล พาร์ทเนอร์ จัดทำไกด์บุ๊ค แนะนำร้านอาหารในประเทศไทยเป็นเวลา 5 ปี เพื่อหวังกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว และเพิ่มสัดส่วนการใช้จ่ายทางด้านอาหารของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น และคาดหวังว่า The Michelin Guide Books ฉบับกรุงเทพ เข้ามาช่วยยกระดับเรื่องแหล่งท่องเที่ยวเชิงอาหาร ในตลาดระดับกลางถึงบนซึ่งในมุมมองของคนทำร้านอาหารแล้วเห็นว่ารัฐบาลควรจะสานต่อในกลุ่มที่เหลือซึ่งมีจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของเชฟอาหารไทย เห็นว่ารสชาติอาหารไทยนั้นเข้าใจยาก มีทั้งรสเปรี้ยว เผ็ด ขม เค็ม หวาน มัน ขม ผสมผสานกัน แต่งต่างจากอาหารฝรั่ง คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ นักชิมของมิชลินจะเข้าใจในความซับซ้อนของรสชาติอาหารไทยหรือไม่?
คุณดวงพร ทรงวิศวะ เชฟหญิงที่ดีที่สุดในเอเซียปี 2556 และเจ้าของร้าน โบ.ลาน เปิดเผยว่า ในฐานะเชฟตัวเองเชื่อว่า การได้รับดาวมิชลิน เป็นสิ่งที่เชฟแทบจะทุกคนฝันไว้ เพราะมันหนึ่งในดาวที่น่าเชื่อถือมากที่สุด แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าพอเขาเข้ามาในประเทศไทย เขาใช้ใครเป็นคนไปชิมตามร้านต่างๆ เขาน่าเชื่อถือในฐานะที่เป็นอาหารฝรั่ง ในภูมิภาคยุโรป ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี เขาให้ดาวยากมาก และมีเครดิตเยอะมากในการให้ดาว แต่พอมาฝั่งเอเซีย เช่นในฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มันมีการตั้งคำถามสำหรับเชฟที่ไม่ได้ทำอาหารยุโรป อย่างเช่นเชฟอาหารไทย ว่าคนที่มาชิมเขามีความรู้มากน้อยแค่ไหนเรื่องอาหารไทย ทานเผ็ดได้ไหม ถ้าไม่ได้ทานเข้าไปแค่คำเดียวก็อาจจะหยุดเลย ไม่ชิมอย่างอื่นต่ออีกเลย
อย่างไรก็ตาม มิชลินไม่ได้เข้ามาสำรวจแต่เพียงอาหารไทยเท่านั้น การเข้ามาของมิชลินในครั้งนี้จึงน่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจอาหารทุกสัญชาติในบ้านเรา โดยเฉพาะร้านอาหารประเภท Fine Dinning หรือร้านอาหารระดับบนที่บริการด้วยวัตถุดิบคุณภาพสูง และมาตรฐานการให้บริการจะพิถีพิถันกว่าร้านอาหารทั่วไป ดังนั้นร้านอาหารประเภทนี้จึงน่าจะต้องการดาวของมิชลิน คุณภาพอาหารจะเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันราคาของอาหารจะสูงตามไปด้วย แต่ยังไงก็มีคนลงทุนอยู่ดี เพราะร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ยังไงก็มีคนมารับประทาน
เพียงแค่ได้ยินชื่อมิชลินสตาร์ ก็ทำให้รู้สึกอยากไปลองชิมดูสักครั้ง ดังนั้นสำหรับเจ้าของร้านอาหารแล้ว การได้รับมิชลินสตาร์จึงถือเป็นชื่อเสียง เป็นมูลค่าทางธุรกิจอย่างมหาศาล และทำให้ร้านนั้นๆ กลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักชิมจากทั่วโลก การเข้ามาของมิชลินสำหรับประเทศไทย จึงถือเป็นเรื่องใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจของผู้ประกอบการ หรือแม้แต่นักชิมต่างก็เฝ้ารอ