ดอกทิวลิป กับเรื่องราวความเป็นมาที่ผาดโผน
ดอกทิวลิป เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของประเทศเนเธอร์แลนด์ และปลูกกันเยอะมาในยุโรปจนหลายคนอาจสับสนว่าทิวลิปมีต้นกำเนิดในยุโรป ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย วันนี้ maanow.com จะมาเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจ ประวัติความเป็นมา และเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับทิวลิป
ทิวลิป (Tulip) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Tulipa เป็นพืชที่ปลูกจากหัวหรือเมล็ดก็ได้ แต่ถ้าปลูกจากเมล็ดต้องใช้เวลานานนับสิบปี กว่าจะได้ดอก แต่ถ้าปลูกจากหัวก็ใช้เวลาแค่ปีเดียว หัวของทิวลิปจะมีลักษณะคล้ายหัวหอมใหญ่สีขาว เมื่อหัวทิวลิปงอกออกมาเป็นดอกในฤดูใบไม้ผลิ หัวเดิมจะฝ่อไปมีหน่อเล็กๆ งอกออกมาเป็นหัวใหม่มาแทนที่ ดอกทิวลิปจะบานอยู่ได้เพียงแค่อาทิตย์เดียวเท่านั้น พอดอกร่วงโรยไปซักพักเราก็สามารถขุดแยกหัวออกมาได้
ที่มาของชื่อ ทิวลิป ซึ่งหมายถึง หมวกหรือผ้าโพกหัวของชาวออตโตมัน เลยทำให้รู้ว่าเป็นดอกไม้พื้นเมืองที่ทุ่งหญ้าสเตปในเอเชียกลาง เป็นดอกไม้ป่าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ชาวเติร์กเรียกทิวลิปว่า ทูลิแบนส์ (Tulipans) แต่ได้รับอิทธิพลจากภาษาลาติน และภาษาฝรั่งเศสเลยกลายมาเป็นทิวลิปในตอนหลัง แต่มีคนออกมาค้านว่า Tulipans นั้นเป็นภาษาดัชต์
แต่ชื่อทูลิแบนส์ก็ทำให้ทราบว่าทิวลิปไม่ใช่ดอกไม้ที่มีถิ่นกำเหนิดในยุโรปอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน ทิวลิปสีแดงสดปรากฏขึ้นครั้งแรกในตำนานของชาวเปอร์เซียนโบราณ เป็นสัญลักษณ์ที่หมายถึงหยดลือดและความรักที่ยั่งยืน
ชาวเติร์กเริ่มปลูกทิวลิปมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 10 แม้ว่ามันเพิ่งจะมาได้รับความสำคัญเมื่อ 600 ที่ผ่านมานี่เอง พวกเขาเรียกมันว่า “ลาเล่” (Lâle) และยังคงเรียกชื่อนี้อยู่จนถึงปัจจุบัน ในช่วงที่สุลต่านปกครองอาณาจักรออตโตมัตอันเข้มแข็ง และกว้างใหญ่ เราเรียกยุคนั้นว่าเป็นยุคทองของทิวลิป เราจะเห็นรูปวาดดอกทิวลิปอยู่ตามงานศิลปะต่างๆ ของชาวเติร์ก เสื้อคลุมของสุลต่านจะถูกปักเป็นรูปดอกทิวลิปนับร้อยๆ ดอก
ถ้าท่านใดได้มีเคยได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ Victoria&Albert ที่กรุงลอนดอนก็จะได้เห็นว่าข้าวของเครื่องใช้ของราชวงค์ออตโตมันมีการปักเป็นรูปทิวลิป นอกจากนี้แล้วที่สุเหร่า Rustem Pasha ในนครอีสตันบลูของตุรกีก็มีจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปทิวลิปที่ประดับมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1561
ทิวลิปถูกนำเข้ามาปลูกในยุโรปครั้งแรกในปี ค.ศ.1559 ในประเทศเยอรมันนี ต่อมาก็ที่เอนเวิร์ป เบลเยี่ยม แล้วก็กรุงเวียนนา เมืองหลวงของออสเตรีย แล้วก็แพร่กระจายไปกรุงลอนดอน จนในปี ค.ศ.1593 ทิวลิปจากตุรกีถูกนำมาเผยแพร่ให้คนฮอลแลนด์ได้รู้จัก คาโรลัส คลูเซียต (Carolus Clusius) นายแพทย์ และนักพฤษศาสตร์เป็นคนที่จัดการสายพันธุ์ และปลูกทิวลิปดอกแรกของยุโรปตะวันตก
คาโรลัส คลูเซียต ได้รับหัวของทิวลิปมาจาก โอชีร์ เดอ บูสเบคก์ เพื่อนที่เป็นฑูตอยู่ที่อาณาจักรออตโตมัน ประเทศตุรกี อากาศและดินที่ดีของเนเธอร์แลนด์เหมาะแก่การเพาะปลูกทิวลิป เลยทำให้มีการปลูกทิวลิปจนเป็นอุตสาหกรรมอย่างในปัจจุบันนี้
ทำไมชาวเนเธอร์แลนด์ถึงหลงไหลทิวลิป?
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าเดิมทีในฤดูดอกไม้ผลิ ดอกไม้ท้องถิ่นที่นั่นส่วนมากจะเป็นสีขาว ฟ้า เหลือง แต่ไม่มีสีแดง ดังนั้นความสวยงามของดอกไม้ต่างถิ่น และสีแดงสดแปลกตาของทิวลิป จึงทำให้คนที่นั้นอยากปลูกมันในฤดูดอกไม้ผลินั่นเอง
กระแสคลั่งทิวลิปของคนรวย
ในสมัยก่อนห้ามไม่ให้มีการผสมพันธุ์ดอกไม้ที่ไม่เป็นไปตามหลักธรรมชาติเพราะผิดหลักศาสนา จนทำให้ทิวลิปมีราคาแพงขึ้น คนในสังคมชั้นสูงหรือคนร่ำรวยเท่านั้นจึงสามารถซื้อทิวลิปมาปลูกไว้ในสวนได้ จนมีกระแสคลั่งทิวลิป Tulipomania ถือว่าเป็นยุคฟองสบู่ของทิวลิปเลยก็ว่าได้
และแล้วในเดือนเมษายน ปี ค.ศ.1609 ก็เกิดวิกฤตทิวลิป คนที่มีฐานะร่ำรวยต่างก็ต้องการมีทิวลิปเอาไว้เชยชมจนยอมจ่ายหนักขึ้นเรื่อยๆ ราคาทิวลิปพุ่งเป็น 20 กว่าเท่าภายในเวลาหนึ่งเดือน ราคาสูงขึ้นจนน่าตกใจ ทิวลิปเพียงแค่หนึ่งดอกมีราคาแแพงเท่ากับราคาบ้านในกรุงอัมสเตอร์ดัมที่เจริงรุ่งเรือง ผู้คนยอมขายบ้านหรือที่ดิน เพื่อให้มีกระแสเงินสดมาซื้อทิวลิป เรียกว่ามีการซื้อขายทิวลิปราวกับการเทรดหุ้นเลยทีเดียว แต่ในความจริงแล้วมันเป็นแค่การเก็งกำไรเท่านั้น แม้กระทั่งในฤดูใบไม้ร่วงก็มีการซื้อขายทิวลิปบนกระดาษ ทั้งๆ ที่ทิวลิปยังเป็นแค่หน่อ ไม่ทันโผล่พ้นออกมาจากดินซะด้วยซ้ำ
รูปข้างบนคือภาพวาดที่มีชื่อว่า A satire of the Folly of Tulip Mania ของ Jan Brueghel the Younger เป็นภาพวาดเสียดสี ที่แสดงถึงกระแสคลั่งทิวลิป ในยุคฟองสบู่ทิวลิปในปี ค.ศ.1609 โดยเน้นให้เห็นถึงการไร้ความคิด ในภาพนี้จึงมีการวาดรูปลิงที่แต่งตัวแบบคนชนชั้นสูงแทนตัวคน
ในปี ค.ศ.1637 ไม่ว่าคนรวย หรือคนจน ต่างก็เพาะปลูกทิวลิปกันจนเกร่อ ทำให้ความเป็นเอกลักษณ์ของทิวลิปหมดไป ผู้คนเริ่มหมดความหวังแบบลมๆ แล้งๆ ที่ฝากไว้กับดอกไม้ที่บานเพียงปีละไม่กี่วันก็เหี่ยวเฉา แถมไม่มีใครรู้เลยว่าหัวของทิวลิปที่ตัวเองครอบครองอยู่นั้นมันจะงอกออกมาเป็นดอกที่มีลักษณะพิเศษ สีสวยแปลกตาขนาดไหน
การซื้อขายทิวลิปเริ่มถึงจุดอิ่มตัว ฟองสบู่ทิวทิปก็พังครืนลงมา ตลาดการค้าทิวลิปล่มสลายลง ตอนนั้นเกิดผลกระทบไปทั้งประเทศ มีการฟ้องร้องกันอย่างมายมาย รัฐบาลถึงกับมีการออกกฎหมายมาควบคุมปริมาณของทิวลิปในตลาด มีการส่งทหารออกมาคุมตลาดทิวลิป
ปัจจุบันเนเธอร์แลนด์ยังเป็นประเทศที่มีการส่งออกดอกไม้มากที่สุด ตลาดประมูลดอกไม้ที่เมืองออสเมีย มียอดการประมูลซื้อขายดอกไม้มากถึง 800 ล้านดอลล่า มูลค่าของตลาดสูงพอๆ กับตลาดหุ้นวอลสตรีทเลยทีเดียว ดอกไม้ส่วนมากถูกส่งออกไปจำหน่ายที่ต่างประเทศ มีเพียงแค่ 20% เท่าที่วางขายกันตามร้านดอกไม้ในเนเธอร์แลนด์
สวนทิวลิปเคอเคนฮอฟ (Keukenhof )
ถ้ามาเที่ยวเนเธอร์แลนด์ หลายท่านก็อยากจะเยี่ยมชมทุ่งทิวลิปที่สวยงาม สุดลูกหูลูกตากันสักครั้ง ภาพทุ่งทิวลิปที่เห็นกันบ่อยๆ ตามโปสเตอร์หรือภาพถ่าย มาจากสวนเคอเคนฮอฟ (Keukenhof) ชานเมืองลิซเซ่ (Lisse) อยู่ห่างจากอัมสเตอร์ดัมเพียงแค่ 29 กิโลเมตร เป็นแหล่งปลูกทิวลิปที่ใหญ่ และสำคัญยิ่งของฮอลแลนด์
ในสวนเคอเคนฮอฟมีทิวลิปมากถึง 7 ล้านดอก สามารถเดินทางมาด้วยรถยนต์หรือรถไฟก็ได้ สวนเคอเคนฮอฟ เปิดให้ชมในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคม แต่ละปีก็จะมีธีมการจัดงานแทบไม่ซ้ำกัน ภายในสวนมี Wi-Fi ให้บริการฟรีด้วย
โดยทิวลิปจะเริ่มออกดอกในฤดูในไม้ผลิ ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมไปจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม เดือนเมษายนเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการมาเยี่ยมชมสวนทิวลิป มีการเพาะปลูกทิวลิปหลายแห่งในเนเธอร์แลนด์ ไม่วาจะเป็นไร่ทิวลิปเมือง Noordoostpolder, Bulb Region และไลเดน (Leiden) ซึ่งถือว่าเป็นเมืองหลวงแห่งทิวลิป
สำหรับปี 2022 ทางเคอเคนฮอฟได้ประกาศออกมาแล้ว ว่าจะมีการเปิดให้ชมสวนตั้งแต่ 24 มีนาคม – 15 พฤษภาคม 2565 เริ่มเก็บตังค์ไว้กันตั้งแต่วันนี้เลยนะคะ
ความหมายของดอกทิวลิปแต่ละสี
ทิวลิปสีแดง หมาย การบอกรัก การประกาศให้โลกรู้ว่าฉันรักเธอแบบหัวปักหัวปำ สีชมพูคือความสดใสร่าเริง
ทิวลิปสีเหลือง หมายถึงความผิดหวัง
ทิวลิปสีม่วง หมายถึงความมั่นคงและซื่อสัตย์
ทิวลิปสีขาว หมายถึงความรักที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน
ทิวลิปหลากสีในช่อเดียวกันหมายถึงความหลงไหลคลั่งไคล้
รวมเรื่องน่ารู้ นานาสาระจากมะนาว ดอทคอม