พระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

พระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 การออกแบบ คติความเชื่อไตรภูมิ การตีความ สัตว์มงคล, ป่าหิมพานต์, ช้าง 10 ตระกูล

funeral bhumibol adulyadej

พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยึดหลักพระราชประเพณีโบราณ  ตามสมัยรัตนโกสินทร์ โดยศึกษารูปแบบพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8  และความเชื่อว่าพระมหามหากษัตริย์คือสมมุติเทพ ที่มีพระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพระมหากษัตริย์ จากแนวคิดดังกล่าวจึงนำมาสู่พระเมรุมาศทรงบุษบก 7 ชั้นเชิงกลอน 7 ยอด โดยบุษบกองค์ประธาน เปรียบเหมือนเขาพระสุเมรุ ส่วนอีก 8 มณฑปที่อยู่รายรอบหมายถึง สัตตบริภัณฑ์คีรี หรือเขาสัตตบริภัณฑ์ อันหมายถึงระบบจักรวาล การออกแบบจิตรกรรม ปฏิมากรรม อยู่บนความเชื่อที่ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 คือพระนารายณ์ที่อวตารลงมาจากทิพยสถานเพื่อทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข

พระเมรุมาศในรัชกาลที่ 9 นับว่ามีความพิเศษที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีขนาดใหญ่กว่าเมรุมาศทั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมา โดยใช้พื้นที่ประกอบพระราชพิธี ถึง 3 ใน 4 ของบิเวณท้องสนามหลวง มีชั้นเชิงกลอนถึง 7 ชั้น อาคารประกอบ โดยเฉพาะพระที่นั่งทรงธรรมมีขนาดใหญ่ที่สุด ที่สำคัญเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะชั้นสูงในแขนงต่างๆ มาประยุกต์กับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการได้อย่างกลมกลืนงดงาม มีความเป็นรูปธรรม สมพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ที่ทั่วโลกต่างยกย่อง

การออกแบบ พระเมรุมาศ

มีคุณก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรม กรมศิลปากร เป็นหนึ่งในผู้ออกแบบที่ได้รับการคัดเลือกจากสมเด็จพระเทพรัตนสุดาสยามบรมราชกุมารีจากแบบทั้งหมด โดยทรงเลือกร่างพระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด คุณก่อเกียรติ ทองผุด กล่าวว่า ได้กำหนดจากพื้นที่ของสนามหลวงว่า ความกว้างของสนามหลวงอยู่ที่ 140 เมตร และจากการอ่านหนังสือของสมเด็จครูที่ว่าการออกแบบพระเมรุมาศใหญ่เท่าไหร่ เท่ากับถวายพระเกียรติเท่านั้น สูงเท่าไหร่ ยิ่งถวายพระเกียรติยศมากเท่านั้นมากขึ้นไปอีก ในครั้งของพระองค์ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่อยู่ในหัวใจ ผู้ออกแบบต้องเสนอภาพนี้ออกมาให้ได้ ตนจึงเอาพื้นที่สนามหลวงมาวาง ความกว้างอยู่ที่ 140 จาก 140 เมตร ซึ่งตัวเองก็ดูแล้วว่า ชั้นอุตราวัฎ 20 หรือ 25 เมตร ซ้ายขวาก็ 50 เมตร พระที่นั่งทรงธรรม ด้านกว้าง 30 กว่าเมตร จะมีพื้นที่เหลืออยู่ประมาณ 60 เมตร คูณ 60 เมตร สำหรับสร้างเมรุมาศ ที่จะใหญ่ที่สุดสำหรับพระเมรุในครั้งนี้

อีกข้อหนึ่ง เมื่อมาวางลักษณะ 9 ยอด ก็วางให้ลักษณะ ให้ยอดพระเมรุมาศตรงกลางนั้นมีลักษณะโดดเด่น มีความแตกต่างจากบุษบกที่ผ่านๆมา ที่มีลักษณะเป็น 5 ชั้นเชิงกลอน โดยเพิ่มเป็น 7 ชั้นเชิงกลอน เพื่อเทียบเคียงดุสิตมหาปราสาทที่เป็นยอดเมรุมาศ เพื่อให้เกิดความโดดเด่นและสง่างาม และเกิดการลดหลั่นของยอดตรงกลาง และถัดมาก็จะเป็นซ่าง แล้วก็เป็นบุษบกต่อไป มีความสอดกัน นอกจากนั้นการออกแบบต่างๆ ยังยึดเรื่องคติความเชื่อไตรภูมิ รวมกับประโยชน์ใช้สอย และยังมีความโดดเด่นเฉพาะต่างจากพระเมรุมาศที่เคยมีมา เช่นการนำโครงการพระราชดำริ มานำเสนอในพระเมรุมาศ 

funeral of bhumibol adulyadej

– คันนาเลข 9 แปลงนาข้าว หากเรามองจากชั้นนอกเขตปริมณฑลของพระเมรุมาศ หรือนอกรั้วราชวัตร ทางด้านทิศเหนือ คือฝั่งสะพานพระปิ่นเกล้า จะเห็นเป็นคันนาเลข 9 สื่อความหมายถึงพระอัจฉริยภาพ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ในวังท่านก็ยังใช้พื้นที่ในการทำแปลงนา โรงสี โรงงานต่าง เพื่อวิจัย นำผลวิเคราะห์เพื่อไปทำโครงการ ทำให้ประชาชนอยู่ดี กินดีขึ้น

แปลงนาข้าว มีบ่อน้ำ มีแก้มลิง มีเนินดินทีปลูกต้นยางนา มีคันดินที่ปลูกต้นหญ้าแฝก มะม่วงมหาชนก

แปลงนาข้าว มีพื้นที่ขนาด 1 ไร่ กรมการข้าวได้คัดเลือกพันธุ์ข้าวที่มีกลิ่นหอม 3 สายพันธุ์ แบ่งออกเป็น 5 แปลง แสดงถึงการเจริญเติบโตทั้งหมด 3 ระยะ คือ ระยะต้นกล้า ระยะแตกกอ และระยะออกรวง นอกจากนั้ยังมีการปลูกพืชชนิดอื่นๆ ซึ่งถูกจัดวางไว้อย่างเป็นระบบตามหลักธรรมชาติ

บริเวณด้านหน้าจะเป็นโครงการฝายน้ำล้น เพื่อชะลอน้ำและทำให้ดินชุ่มชื้นขึ้นเป็นป่าต้นน้ำ ต่อจากนั้นลงมาหน้าสุดจะเป็นโครงการแก้มลิง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้สอยหน้าแล้ง และสุดท้ายในส่วนด้านบนของโครงการแก้มลิงจะติดตั้งกังหันชัยพัฒนา สิ่งประดิษฐ์ที่ใช้ปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยวิธีการเติมอากาศ

– พระที่นั่งทรงธรรม เข้ามาในรั้วราชวัตรจะเป็นหมู่อาคารประกอบรายรอบพระเมรุมาศ เช่น พระที่นั่งทรงธรรม ที่ประทับของมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ คณะรัฐมนตรี องคมนตรี และคณะฑูตานุฑูตที่เข้าร่วมในพระราชพิธี

– ศาลาลูกขุน สิ่งปลูกสร้างสำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าละอองธุลีพระบาท

– ทับเกษตร อาคารโถงมียอดเป็นมณฑปแปลง เป็นอาคารที่แสดงการจบขอบเขตของมณฑลพิธี อยู่ที่มุมทั้ง 4

– ทิม อาคารที่สร้างติดแนวรั้วราชวัตรต่อเนื่องกับอาคารทับเกษตร เป็นที่พักของพระสงฆ์ แพทย์หลวง เจ้าพนักงาน และเป็นที่ประโคมปี่พาทย์

การวางผังจะสะท้อนใน 2 เรื่อง ประโยชน์ใช้สอยตามประเพณีที่ปฏิบัติมา ขนาดที่ต้องรองรับจำนวนคนให้ได้ และอีกเรื่องคือ การตีความในเชิงความหมาย ซึ่งตรงนี้ก็เกี่ยวข้องกับแบบลวดลวยที่มีการออกแบบเป็นลายพื้น ลวดลวยพื้นที่อยู่รอบๆพระเมรุมาศตรงกลางจะเป็นการออกแบบที่สื่อความหมายถึงผังภูมิจักรวาล ลายพื้นที่อยูรอบพระเมรุมาศ จะมีการกำหนดลวดลายตามภูมิจักรวาล เช่น ตำแหน่ง 4 จุด ตามทิศต่าง เป็นลักษณะ 4 เหลี่ยม แทนความหมายของทวีปทั้ง 4 นั่นคือการตีความตาม

ลวดลายพื้นที่อยู่ล้อมรอบพระเมรุ คติความเชื่อเกี่ยวกับเขาพระเมรุ บนเขาพระเมรุจะมีสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่มีพระอินทร์อยู่ มีเขาสัตตบริภัณฑ์ล้อมรอบ แล้วก็จะมีทะเล มหาสมุทรกั้นอยู่ แล้วตรงใต้เขาพระสุเมรุ จะเป็นภิภพของครุฑ ของพญานาค ที่เชิงเขาพระสุเมรุจะมีสระอโนดาต และป่าหิมพานต์

การตีความหมาย

ลานหรือพื้นที่อยู่รอบพระเมรุมาศเรียกว่า ลานอุตราวัฎ (หมายถึงการเดินเวียนซ้าย) บนลานมีสระอโนดาดจำลองสระน้ำที่อยู่ในป่าหิมพานต์ ทั้งสี่ทิศและเขามอหรือภูเขาจำลอง ภายในสระอโนดาตจะประดับด้วยประติมากรรมสัตว์หิมพานต์

สัตว์มงคลประจำทิศ ประดับทางขึ้นบันไดชั้นที่ 1 ประจำทิศละ 1 คู่ ได้แก่

• ช้าง ด้านทิศเหนือของพระเมรุมาศ สื่อพระสุบินนิมิตของพระนางสิริมหามายา

• ม้า ทิศตะวันตก ฝั่งเดียวกับพระที่นั่งทรงธรรม สื่อถึงเป็นพาหนะทีใช้เสด็จออกบวช

• สิงห์ ทิศตะวันออก สื่อถึงการแสดงธรรม

• โค ทิศใต้ สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์

funeral bhumibol adulyadej 5

สัตว์หิมพานต์

• คชสาร หรือช้างในสระอโนดาตจะประดับประติมากรรมช้างมงคลทั้ง 10 ตระกูล ได้แก่ ตระกูลฉัตรทันต์ เป็นช้างที่มีฤทธิ์เดช มีพละกำลังมหาศาล เหาะได้เร็วกว่าจรวด ผิวมีสีขาวเงินยวง, อุโบสถ, เหมหัตถี, มงคลหัตถี, คันธหัตถี, ปิงคถหัตถี, ตัมพหัตถี, ปัณฑรหัตถี หรือปัณฑรนาเคนทร์, คังไคย หรือคับเคยยนาเคนทร์, กาลาวกหัตถี หรือช้างกาฬวกะหัตถี

และช้างที่ผสมกับสัตว์อื่นๆ รวมทั้งสิ้น 30 ช้าง ที่อาศัยอยู่ในเขามอ

• กาฬสีหะ หรือสิงห์ ด้านทิศตะวันออก กาฬสีหะ ตระกูลหนึ่งในสี่ของประติมากรรมหลักอย่างสิงห์ มีลักษณะเด่นคือสีดำที่ตัว แสดงถึงความสง่างามและทรงพลัง จะตั้งอยู่ในสระอโนดาตทางทิศตะวันออก 

• กบิลปักษา ตัวและหัวเป็นลิง มีหางเป็นนก มีปีกที่ไหล่ ในมือถือกระบอง ประดับอยู่ตามมุมสระอโนดาตด้วย

ไม้ดัด นำมาจากวัดคลองเตยใน

สระอโนดาตจะต่างจากครั้งก่อนๆ คือเป็นสระน้ำจริง เมื่อมองจากภายนอกจะเห็นเหมือนพระเมรุมาศลอยอยู่กลางสระน้ำ พระเมรุมาศในครั้งนี้มีชั้นชาลา 4 ชั้น (จากเดิมมี 3 ชั้น) 

ฐานชาลาชั้นที่ 1 เป็นชั้นล่างสุด มีคชสีห์ ราชสีห์ เฝ้าบันไดทั้ง 4 ทิศ และมีเทวดานั่งคุกเข่าถือบังแทรก (เครื่องสูงอย่างหนึ่งที่ใช้กั้นบังแดดคล้ายพัด) ส่วนที่มุมทั้งสี่ของฐานมีประติมากรรมท้าวจตุโลกบาล เทวดาผู้ป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่มนุษย์ทั้ง 4 ทิศ ที่เสด็จลงมาเพื่อรับเสด็จพระราชดำเนินสู่สรวงสวรรค์ ประกอบด้วยท้าวกุเวร ประจำทิศเหนือ ท้าวธตรฐ ประจำทิศตะวันออก ท้าววิรุฬหก ประจำทิศใต้ และท้าววิรูปักษ์ ประจำทิศตะวันตก ราวเชื่อมแต่ชั้นชาลาเป็นราวบันไดนาค จากคติความเชื่อที่ว่า นาค ทำหน้าที่เป็นด่านแรกในการเฝ้ารักษาก่อนถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลักความเชื่อเรื่องพญานาค เป็นสัญลักษณ์ของน้ำและเสมือนสะพานสายรุ้งเชื่อมโลกมนุษย์กับสวรรค์ ชั้นที่ 1 นาค 1 เศียร รูปแบบรัตนโกสินทร์ ได้ต้นแบบจากเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช มีขนาดยาว 1.5 เมตร เป็นนาคสีเขียว

ฐานชาลาชั้นที่ 2 มีหอเปลื้องทรงบุษบก รูปแบบเดียวกันตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่ ใช้สำหรับจัดเก็บพระโกศทองใหญ่และพระโกศไม้จันทน์ รวมถึงอุปกรณ์สำหรับงานพระราชพิธี มีครุฑยืน พาหนะของพระนารายณ์ขนาบข้างบันไดด้านซ้าย-ขวา ประจำทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้ รวมทั้งสิ้น 6 องค์ ราวบันไดนาค 3 เศียร คชนาค ความยาว 2.5 เมตร อ้างอิงจากประติมากรรมนาค พบทีเตาแม่น้ำน้อย วัดพระปรางค์ จังหวัดสิงห์บุรี

ฐานชาลาชั้นที่ 3 ประดับประติมากรรมเทพชุมนุม จำนวน 132 องค์โดยรอบ รองรับด้วยฐานสิงห์ซึ่งประดับประติมากรรมครุฑยุดนาค (ครุฑจับนาค) โดยรอบอีกชั้นหนึ่ง มุมทั่ง 4 ของฐานชั้นที่ 3 นี้ เป็นที่ตั้งของ “ซ่าง” สิ่งปลูกสร้างทรงบุษบก ยอดมณฑปชั้นเชิงเชิงกลอน 5 ชั้น ใช้สำหรับพระสงฆ์นั่งสวดพระอภิธรรมอยู่ 4 มุมของพระเมรุมาศ ราวบันไดนาค 5 เศียร พระยาวาสุกรีนาคราช รูปแบบนาคสวมมงกุฎยอดชัย ความยาวกว่า 3.35 เมตร ต้นแบบจากราวบันไดนาค วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

ชั้นที่ 4 ชั้นพระเมรุมาศประธาน มีบุษบกองค์ประธานตั้งอยู่ เป็นอาคารทรงบุษบกยอดมณฑปชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น ภายในมีจิตกาธาน เป็นที่ประดิษฐานพระบรมโกศ ภายในมีพระจิตกาธาน เป็นที่ประดิษฐานพระบรมโกศ ผนังโดยรอบเปิดโล่ง ติดตั้งพระวิสูตร หรือม่าน และฉากบังเพลิงเขียนภาพพระนารายณ์อวตารตอนบน และภาพโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตอนล่าง ที่ยอดบนสุด ประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตรขาว 9 ชั้น) นอกจากนี้ยังมี ประติมากรรมสุนัขทรงเลี้ยง คุณทองแดง และคุณโจโฉ ประดับด้านซ้ายและขวาของพระจิตาธานพระเมรุมาศ เป็นชั้นสำคัญที่สุด ราวบันไดอนันตนาคราช ต้นแบบจากปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นนาค 7 เศียร ความยาวกว่า 5.10 เมตร แต่ละเศียรเป็นหน้าเทวดา ตามคัมภีร์พระนารายณ์บรรทมสินธุ์ บนแท่นพญาอนันตนาคราช

สำหรับการถวายพระเพลิง ตั้งแต่ครั้งพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเป็นต้นมา ได้เปลี่ยนมาประทับในพระหีบพระบรมศพแทนพระโกศ แต่ยังมีพระโกศเป็นสัญลักษณ์เพื่อแสดงถึงพระเกียรติยศสูงสุด 

ลักษณะของบุษบก 9 หลัง ซึ่งมีความสมมาตรทุกด้าน ทำให้เกิดความงดงามไม่ว่าจะมองมาจากด้านไหน เมื่อก่อนจะมีพระเมรุมาศที่มีศาลาเปลื้อง ซึ่งจะเป็นอาคารที่ประกอบด้านข้างพระเมรุมาศ การเข้าพระเมรุมาศ ส่วนใหญ่จะไม่ได้เข้าตรงกึ่งกลาง แต่จะเข้าเยื้องมาทางพระที่นั่งทรงธรรม มาทางทิศตะวันตก แต่ครั้งนี้เนื่องจากรูปทรงของพระเมรุมาศเป็นอาคารที่สวยงามสมบูรณ์ทุกๆ ด้าน การเข้าจะเป็นการเข้าตรงแกนกลางพอดีเลย ฉะนั้นมุมมองหรือรูปแบบต่างๆ จะต่างจากครั้งก่อนๆ รวมทั้งความใหญ่โต ความสวยงามในเรื่องของลวดลายประดับ หรือรูปทรงที่เป็นบุษบกก็จะไม่เหมือนครั้งก่อนๆ

นี่เป็นข้อมูลเพียงสังเขปของความยิ่งใหญ่ ซึ่งยังมีรายละเอียดต่างๆ อีกมากมายที่ช่างฝีมือผู้สรรสร้างอยากให้ผู้ที่เข้าชมศึกษามาเบื้องต้น เพื่อได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ด้านสถาปัตยกรรมในวาระสำคัญนี้ คุณก่อเกียรติ ทองผุด ได้ให้คำแนะนำว่าถ้าจะมาดูพระเมรุให้ล่วงรู้ หรือว่าทำความเข้าใจพระเมรุให้มาก ควรไปอ่านหนังสือ หรือศึกษารายละเอียดมาล่วงหน้า ก่อนที่จะเข้ามาในพระเมรุ เพราะว่าองค์พระเมรุคือการส่งผ่านวัฒนธรรม รูปแบบหรือว่าประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม การจะรังสรรค์เรื่องอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่าย มันจะเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะเท่านั้นเอง หลายๆ เรื่องอาจจะไปค้นเรื่องจิตรกรรม หรือประติมากรรม หรืองานต่างๆมาก่อน ก่อนที่จะมาดูพระเมรุ ควรที่จะไปอ่านเรื่องราวของไตรภูมิ หรือคติความเชื่อต่างๆ จะทำให้ได้อะไรที่มากกว่า การมาแค่ถ่ายรูป คือเห็นพระเมรุแล้วเกิดปัญญา

ภายหลังงานพระราชพิธีเสร็จสิ้นแล้ว บริเวณมณฑลพิธีนี้จะจัดเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมทั้งเรื่องของสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ประณีตศิลป์ ที่เกี่ยวข้องกับงานพระราชพิธี ซึ่งเป็นโอกาสที่ประชาชนจะได้สัมผัสกับศิลปกรรมล้ำค่าแห่งยุคสมัย ที่เหล่าช่างฝีมือและผู้เกี่ยวข้องร่วใจกันอย่างสุดความสามารถ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ที่มา : YouTube โดย matichon tv (เป็นเรื่อง! ตอนพิเศษ) และรายการขีดเส้นใต้เมืองไทย โดยไทยรัฐ