พระโกศจันทน์ ฐานรองพระโกศจันทน์หรือพระหีบจันทน์ เครื่องเฉลิมพระเกียรติพระบรมศพ รัชกาลที่ ๙

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระโกศจันทน์ พระหีบจันทน์ เครื่องเฉลิมพระเกียรติพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙

Royalcasket kingbhumiboladulyadej

ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ มีองค์ประกอบที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของงานราชประเพณี ที่มีมาแต่โบราณ นั่นก็คือ พระโกศ ความสำคัญและที่มาของพระโกศนั้นมีหลักฐานยืนยันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา พระโกศเป็นเครื่องบังพระลองที่ทรงพระบรมศพ ในโบราณราชประเพณี โดยพระโกศก็จะมี 2 ชั้น มีไม้จันทร์อยู่ด้านนอก งานโลหะอยู่ด้านในอีกชั้นหนึ่ง

การใช้พระโกศบรรจุพระบรมศพและพระศพนั้น เป็นราชประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยพระโกศจะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามยศยศถาบรรดาศักดิ์ พระโกศสำหรับพระมหากษัตริย์ แบ่งออกได้ 3 ชนิดคือ

1. พระโกศลอง เป็นพระโกศสำหรับบรรจุพระบรมศพ เจ้านายซึ่งเสด็จสวรรคตจะอยู่ในพระลอง ที่มีลักษณะเป็นกระบอกโลหะ อยู่ด้านในของพระโกศอีกที ถ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระลองก็จะเป็นเงินปิดด้วยทองคำ ถ้าเป็นเจ้านายรองลงมาก็จะเป็นทองแดงปิดทอง หรือเป็นเหล็กปิดทอง

2. พระโกศทองใหญ่ พระโกศชั้นนอกที่เอาไว้หุ้มพระโกศลอง ทำขึ้นจากไม้ปิดทอง ประดับกระจกและอัญมณี เป็นพระโกศที่มีลำดับพระเกียรติยศสูงสุด ลักษณะของพระโกศทองใหญ่ และเครื่องประดับพระโกศทองใหญ่ทรงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะมีดอกไม้เพชรพุ่มข้าวบิณฑ์ประดับอยู่เหนือสุดของยอดพระโกศ ชั้นของฝาพระโกศประดับไปด้วยดอกไม้ไหว ส่วนฝาพระโกศจะประดับไปด้วยเฟื่องและพู่เงิน เอวพระโกศนั้นจะประดับไปด้วยดอกไม้เอว และในส่วนของลวดลายนั้นทำด้วยไม้แกะสลักทรงแปดเหลี่ยม ซึ่งพระโกศนั้นหุ้มด้วยทองคำตลอดองค์พร้อมกับประดับด้วยอัญมณี

3. พระโกศจันทน์ เป็นพระโกศที่ทำจากไม้จันทน์ หุ้มพระโกศลอง เพื่อใช้ในการถวายพระเพลิงพระบรมศพ ทำมาจากไม้จันทร์หอมแปรรูปไม้ให้เป็นแผ่นบาง โกรกฉลุให้เป็นลวดลายแบบต่างๆ ขนาดใหญ่น้อยตกแต่งอย่างงดงาม ไม้จันทร์หอมเป็นไม้มงคลชั้นสูง ใช้ในพระราชประเพณี ตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชประเพณีเกี่ยวกับพระบรมศพ โดยเอาไม้จันทน์หอมที่ยืนต้นตายเองตามธรรมชาติ เนื้อไม้จะมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ

พระโกศจันทน์ และฐานรองพระโกศจันทน์หรือพระหีบจันทน์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผลงานของช่างศิลปินระดับชาติ จากสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร และจิตอาสาที่เชี่ยวชาญงานฉลุ เป็นผลงานที่วิจิตรงดงามด้วยลวดลายศิลปะไทยชั้นสูง ที่โกรกฉลุลายกว่า 40,000 ชิ้นงาน รวมลายที่ปรากฏอยู่บนพระโกศจันทน์และพระหีบจันทน์มากถึง 46 แบบ เพื่อให้สมพระเกียรติสูงสุด

• พระโกศจันทน์ ประกอบด้วยชิ้นไม้มากกว่า 10,000 ชิ้น มีลวดลายหลักคือลายกลีบจงกลประดับเทพพนม รอบๆพระโกศ มีองค์เทพนม 64 องค์ ที่สื่อความหมายเปรียบเหมือนพระนารายณ์ พระโกศจันทน์มีลวดลายทั้งหมด 42 แบบ อาทิ ลายกระจังคว่ำ, ลายหน้ากระดาน, ลายท้องไม้, ลายดอกไม้ไหว

royalcasket sandalwoodsculpture

• ฝาพระโกศจันทน์ ประกอบด้วยลวดลายต่างๆ อาทิ ลายดอกจอก, ลายบัวถลา(บัวคว่ำ), ลายกระจังเกี้ยว และลายดอกไม้ทิศ เป็นต้น

• ฐานรองพระโกศจันทน์ หรือ พระหีบจันทน์ มีลวดลายหลักเป็นเครือเถาครุฑทั้งสี่ด้าน ซึ่งมีการนำมาใช้เป็นครั้งแรก มีครุฑ 132 องค์ ซึ่งครุฑแต่องค์ประกอบด้วยไม้จันทร์ถึง 99 ชิ้น เป็นสัญลักษณ์ของพระหีบจันทน์ ครุฑสื่อถึงเป็นพาหนะพระนารายณ์ อัญเชิญขึ้นสู่สรวงสวรรค์

โดยการจัดสร้างครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ปิดทองคำเปลวประดับองค์เทพนม ทั้งขนาดใหญ่และเล็กจำนวน 64 องค์ ประกอบทั้ง 3 ชั้นรอบพระโกศจันทน์ ลดหลั่นลงมา มีการปิดทองคำเปลวใจกลางกลีบจงกล เพื่อเพิ่มความมีมิติ งดงามอย่างสมพระเกียรติยศสูงสุด เช่นเดียวกับพระหีบจันทน์ก็ได้ปิดทองคำเปลวที่ครุฑทั้ง 132 องค์ (ภาพข้างล่าง คือลายเครือเถาครุฑบนพระหีบจันทน์) 

royalcasket sandalwood sculpture

นอกจากนี้แล้วยังมีช่อไม้จันทน์ที่ประดิษฐ์ลายเฉพาะเป็นพิเศษสำหรับในส่วนของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร และพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

เกี่ยวกับไม้จันทน์หอม

ไม้จันทน์หอมเป็นไม้ป่าดิบแล้งในป่าสมบูรณ์ ทางด้านตะวันตกของประเทศไทย ที่ประเทศพม่าเรียกว่า จันทน์พม่า หรือจันทน์ขาว บ้านเราเรียกว่า จันทน์หอม หรือจันทน์ชะมด แต่จันทน์ชะมดก็ไปพ้องเสียงกับไม้อีกชนิดหนึ่ง ที่อาดทำให้เกิดความเข้าใจสับสนได้ ไม้จันทน์หอมเป็นไม้ที่มีคุณสมบัติพิเศษ เนื้อไม้จะมีหอมถ้ายืนต้นตายเองตามธรรมชาติ โดยใช้เวลานานนับร้อยปี โดยมีสารที่เรียกว่า Mansonia gagei ที่ทำให้แก่นไม้จันทน์มีกลิ่นหอม แก่นไม้จันทน์เมื่อโดนไฟจะยิ่งมีกลิ่นหอม

คนสมัยโบราณนิยมนำแก่นไม้จันทน์มาทำเป็นโลงศพและทำเป็นเชื้อเพลิงในการเผาศพ แก่นไม้จันทน์ยังถูกหั่นเป็นท่อนเล็กๆ ผูกติดกับดอกไม้ธูปเทียน เพื่อให้คนที่มาร่วมงานใช้ทำความเคารพศพ เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีน้ำยาฉีดศพ กลิ่นหอมจากไม้จันทน์จะช่วยดับกลิ่นศพได้เป็นอย่างดี ต่อมาไม้จันทน์หอมเป็นไม้ที่หายาก กว่าจะยืนต้นตายต้องใช้เวลานานกว่าร้อยปี ทำให้มีการอนุรักษณ์ และมีการเพาะปลูกเพิ่มเติมทดแทนต้นที่ตายไป

ไม้จันทน์หอมที่นำมาใช้ในพระราชพิธีครั้งนี้ มาจากอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นไม้จันทน์หอมจำนวน 9 ต้น จาก 19 ต้น ก่อนที่จะตัดไม้จันทน์หอมมาใช้ต้องมีการบวงสรวงตามโบราณราชประเพณีที่ยึดถือกันมาอย่างช้านาน เพื่อเป็นการขอขมาเทพยดาอารักษ์ที่ปกปักรักษาต้นไม้จันทน์และผืนป่าแห่งนั้นไว้ โดยเริ่มตัดด้วยขวานที่ทำจากโลหะทาสีทอง สำหรับไม้จันทน์หอมที่ใช้ประกอบในงานราชพิธีนั้น จะนำมาใช้ทำ พระโกศ ช่อดอกไม้จันทน์ ฟืนไม้จันทน์ และยอดพระจิตกาธานบนพระเมรุมาศ

รับชม วีดีโอเกี่ยวกับพระโกศไม้จันทน์ได้ในรายการกบนอกกะลา

ขอบคุณรูปภาพจาก Facebook : Thairoyalfamily, รายการกบนอกกะลา