ปูนิ่ม คือปูอะไร ใช่ชื่อของสายพันธุ์ของปูหรือไม่ วิธีการเลี้ยงปูนิ่ม

ปูนิ่ม คือปูอะไร ใช่ชื่อของสายพันธุ์ของปูหรือไม่ วิธีการทำปูนิ่ม วิธีการเลี้ยงปูจากกระดองแข็งๆให้กลายเป็นกระดองอ่อน นิ่มทำอย่างไร

soft shellcrab

ปูนิ่ม (Soft-Shell Crab) คือปูที่ถูกนำมาเลี้ยงจนกระทั่งลอกคราบ เมื่อลอกคราบใหม่ๆ กระดองปูจะนิ่มจนรับประทานได้ทั้งกระดอง เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนการ มีปริมาณแคลเซี่ยมสูง คอเลสเตอรอลต่ำ ต้นทางของการทำปูนิ่มส่วนมากมาจากจังหวัดชายฝั่งอันดามัน เช่น ระนอง หรือสตูล พื้นที่ที่มีการทำฟาร์มปูนิ่มจะคล้ายกับการทำฟาร์มกุ้งคือมีบ่อขนาดใหญ่เรียงรายกันอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ที่แตกต่างจากการเลี้ยงกุ้งคือจะมีตะกร้าใบเล็กๆวางเรียงรายกันเป็นแพอยู่เต็มบ่อ

สายพันธุ์ของปูที่นำมาเลี้ยง

พันธุ์ปูที่นิยมนำมาเลี้ยงเป็นปูนิ่มคือ ปูดำ ดังนั้นปูนิ่มก็คือปูดำหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าปูทะเลลอกคราบนั่นเอง ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เพียงแค่ปูดำเท่านั้นที่ลอกคราบ เพราะปูทุกชนิดสามารถลอกคราบได้เช่นกัน แต่ที่นิยมนำปูดำมาเลี้ยงเป็นปูนิ่มก็เพราะว่า ปูดำเนื้อแน่น มีความอดทนสูง และเลี้ยงได้ง่ายกว่าปูชนิดอื่นๆ ส่วนปูม้าเป็นปูทะเล เป็นที่นิยมรับประทาน แต่ว่าเป็นปูอ่อนแอจึงไม่นิยมนำมาเลี้ยง

สาเหตุที่ระนองหรือสตูลมีการเลี้ยงปูนิ่มเยอะ ก็เพราะว่ามีชายแดนติดกับประเทศพม่าจึงมีปูเยอะ เนื่องจากสภาพป่าที่นั่นยังอุดมสมบูรณ์ ทำให้มีปูเยอะกว่าเมืองไทย จึงมีการนำปูดำจากประเทศพม่ามาเลี้ยง และยังอยู่ติดชายฝั่งอันดามัน สภาพน้ำที่นั่นจึงดีเหมาะสมกับการเลี้ยงปูนั่นเอง

การสร้างบ่อเลี้ยงปู

การเลี้ยงปูนิ่มมีอยู่ 2 แบบคือเลี้ยงในกระชังปลาและบ่อดิน แต่การเลี้ยงในบ่อดินเป็นวิธีที่ดูแลและจัดการได้ง่าย บ่อเลี้ยงปูนิ่มจะมีขนาดตั้งแต่ 2-10 ไร่ มีประตูระบายน้ำเข้าออก 1-2 ประตู กลางบ่อมีทางเดินทำด้วยไม้ พร้อมหลังคาพาดระหว่างคันบ่อ เพื่อใช้ในการให้อาหารปูและตรวจเก็บปูนิ่ม ส่วนแพรองรับตะกร้าปูจะใช้ท่อพีวีซี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 นิ้ว ปิดปลายทางทั้งสองข้าง ต่อเป็นแพยาว 10-20 เมตร แล้วใช้ใม้ไผ่วางพาดขวางยึดท่อ ให้ระยะห่างพอดีรองรับกับตะกร้า ขนาดกว้าง 22.6 ซม. ยาว 30 ซม. สูง 16.1 ซม. แพใส่ตะกร้าต้องเคลื่อนที่ไปมาได้ โดยการดึงเชือกที่ผูกกับแพ เพื่อความสะดวกในการให้อาหาร และสังเกตุการลอกคราบของปู

softshellcrab farm

วิธีการเลี้ยงปูนิ่ม

1. ขั้นแรกก็ต้องไปซื้อปูมาเลี้ยง แหล่งซื้อขายสินค้าด้านประมงที่สำคัญในประเทศไทย อยู่ที่สะพานปลา ท่าเทียบเรือจังหวัดระนอง เป็นแหล่งที่ตั้งของแพปู แพปลา ทั้งของและของเอกชนจำนวนมาก บ้านเรามีการซื้อปูจากประเทศพม่ามาเลี้ยงจำนวนมาก ซึ่งความจริงแล้วปูไทยกับปูจากพม่ามีลักษณะเหมือนกันทุกอย่าง แต่ปริมาณปูจากเมืองไทยของเราเริ่มเหลือน้อยเต็มที การคัดปูไปเลี้ยงต้องแยกตาม 2 ลักษณะ คือ

ขนาดของปู การเลือกปูจะแบ่งเป็น 3 ขนาด คือ ปูใหญ่ ปูเล็ก และปูจิ๋ว ปูใหญ่ที่ซื้อมาจะนำไปขายต่อเลยทันที ปูเล็กจะถูกนำไปเลี้ยงเป็น ปูนิ่ม ส่วนปูจิ๋วนั้นนำไปเลี้ยงในกล่องไม่ได้ เนื่องจากปูมีขนาดเล็กจนสามารถไต่หนีออกมาทางช่องว่างบนกล่องที่เลี้ยงได้

เพศของปู นอกจากแยกขนาดแล้วยังต้องคัดเอาเฉพาะปูตัวผู้ และปูกระเทยไปเลี้ยง โดยดูตรงส่วนท้องที่เรียกว่า จับปิ้ง ปูตัวผู้จะมีจับปิ้งเป็นสามเหลี่ยมแคบๆ สีขาว (รูปบนซ้าย) ปูตัวเมียจับปิ้งจะใหญ่ กว้าง เป็นสีดำคล้ำ (รูปข้างล่าง) นอกจากนี้ยังมีปูกระเทยที่จับปิ้งจะมีลักษณะคล้ายตัวเมีย แต่ว่ามีสีขาวเหมือนตัวผู้ ซึ่งแท้จริงแล้วปูกระเทยก็คือปูตัวเมียที่ยังไม่โตเต็มวัย สาเหตุที่ไม่นิยมเอาปูตัวเมียไปเลี้ยง เพราะว่ามันลอกคราบยากนั่นเอง

2. ปูเล็กที่นำมาเลี้ยง เป็นปูที่มีขนาดตั้งแต่ 6.5-7.5 เซนติเมตร ควรมีมีอวัยวะครบและเป็นปูที่แข็งแรง ก่อนปล่อยปูลงตะกร้าปรับสภาพของปูให้เข้ากับสภาพน้ำที่จะใช้เลี้ยง โดยใช้น้ำในบริเวณที่เลี้ยงมารดบนตัวปูให้ชุ่ม จากนั้นตัดเชือกมัดปูออกแล้วปล่อยลงในตระกร้าใบละ 1 ตัว แล้วใช้ตะกร้าอีกใบมาครอบแล้วมัดด้วยเชือก จากนั้นนำกล่องไปวางตามแพที่เตรียมไว้ในบ่อน้ำเค็ม โดยมีอัตราการปล่อยอยู่ที่ประมาณ 10,000 ตัวต่อไร่ และจะปล่อยเสริมเท่ากับจำนวนปูนิ่มที่เก็บขึ้นมา

3. เลี้ยงปูด้วยปลาสับ เช่นปลาเบญจพรรณ (ปลาเป็ด) หั่นเป็นชิ้นขนาด 1-2 นิ้ว คิดเป็นสัดส่วน 10% ของน้ำหนักปู โดยจะมีการให้อาหารปูทุก 1-2 วันต่อหนึ่งครั้ง แล้วแต่บางฟาร์ม โดยหย่อนลงบนช่องข้างบนกล่อง จากนั้นก็รอเวลาให้ปูลอกคราบ ประมาณไม่เกิน 45 วันปูก็จะเริ่มลอกคราบ

4. ก่อนที่ปูจะลอกคราบตามกระดองจะมีลักษณะคล้ายกับตะไคร่น้ำสีดำคล้ำ คนงานต้องคอยสังเกตุ เฝ้าดูปูทุก 4 ชั่วโมง เพราะปูแต่ละตัวจะมีการลอกคราบไม่พร้อมกัน เรียกว่าต้องเฝ้ากันทั้งวันทั้งคืนเพื่อไม่ให้พลาดที่เก็บปูนิ่ม เพราะถ้าพลาดก็ต้องรอไปนานหลายวันกว่าปูจะลอกคราบอีกครั้ง ปูแต่ละตัวจะใช้เวลานานนับชั่วโมงในการลอกคราบแต่ละครั้ง วิธีสังเกตุในตะกร้าเดียวกัน ถ้าเราเห็นปู 2 ตัว จะเป็นคราบที่ลอกออกมา 1 ตัว ส่วนอีกตัวคือปูนิ่ม ช่วงเวลาที่ปูลอกคราบก็เป็นช่วงเวลาที่ปูอ่อนแอมากที่สุด คนเลี้ยงปูนิ่มต้องอาศัยจังหวะนี้รีบจับปู ขึ้นมาแช่น้ำจืด

softshellcrab

ซึ่งแท้ที่จริงแล้วปูลอกคราบก็เพื่อการเจริญเติบโตและซ่อมแซมร่างกายเพราะปูเป็นสัตว์กระดองแข็งจึงไม่สามารถขยายรูปร่าง หรือเปลี่ยนแปลงร่างกายได้อีก เมื่อปูสะสมอาหารจนอ้วน เนื้อแน่นเต็มกระดอง ก็จะเริ่มสร้างกระดองใหม่ไว้ใต้กระดองเก่า จากนั้นจึงจะเริ่มลอกคราบออกมา ซึ่งก็จะกลายเป็นปูกระดองใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม กระดองปู มีสารประกอบหลักคือ ไคตินกับโปรตีน แบ่งเป็นหลายชั้นซ้อนทับกัน และมีชั้นที่อยู่ตรงกลางที่มีแคลเซี่ยม ทำให้กระดองปูแข็งแรง

5. หลังจากลอกคราบเป็นปูนิ่มแล้ว จะต้องรีบนำไปแช่น้ำจืดเพื่อให้ปูคลายความเค็มทันที เพราะถ้าปล่อยปูแช่น้ำเค็มเกินกว่า 2 ชั่วโมง ปูจะดูดน้ำเข้าตัว จนตัวขยายขึ้น และจะดูดแร่ธาตุต่างๆในน้ำเค็มมาสร้างกระดองใหม่ให้แข็งแรงขึ้น จนทำให้ปูนิ่มกลายเป็นปูที่มีกระดองแข็งแรงขึ้นอีกครั้ง การแช่น้ำจืดต้องแช่นานประมาณ ½ ชั่วโมง จากนั้นก็จะนำปูนิ่มเป็นๆบรรจุลงในตร้า ใส่ในถังน้ำแข็ง มีการนำผ้าชุบน้ำมาคลุมตะกร้าแล้วราดน้ำตามอีกทีหนึ่ง เพื่อให้ปูคงความสด คงปริมาณน้ำในตัวปูไม่ให้แห้งออกไป แล้วรีบนำไปส่งให้กับทางโรงงานเพื่อส่งไปขายต่อที่ต่างประเทศ

6. นอกจากจะส่งปูนิ่มสดๆเข้าโรงงานเพื่อส่งออก ปูนิ่มอีกส่วนจะถูกบรรจุในกล่องพลาสใส แล้วนำไปแช่แข็งเพื่อส่งขายให้กับพ่อค้าแม่ค้าตามตลาดในหลายจังหวัด การแช่แข็งปูนิ่มหากเก็บในตู้แช่แข็งที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 18 องศาเซลเซียสจะสามารถเก็บไว้ได้ 2-3 เดือน

สำหรับผลผลิตที่ได้ บางแห่งก็เก็บได้มากถึง 60-70 กิโลกรัมต่อปูเลี้ยง 1,000 ตัว ต่อระยะเวลา 45 วัน