ประวัติพระเมรุมาศ พระเมรุมาศ คืออะไร มีความเป็นมาอย่างไรในประวัติศาสตร์ไทย ลักษณะของพระเมรุมาศในสมัยกรุงศรีอยุธยา – สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
รูปภาพ (ซ้ายมือ) พระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (ขวามือ) พระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
นับตั้งแต่อดีตพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ถือเป็นพระราชพิธีสำคัญในการถวายพระเกียรติยศแก่เจ้านาย และเพื่อให้ผู้ที่อยู่เบื้องหลังได้ถวายความจงรักภักดี ก่อนจะถึงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย วันก่อนได้พูดถึงพระโกศจันทน์กันไปแล้ว วันนี้จะพูดถึง พระเมรุมาศ เครื่องเฉลิมพระเกียรติพระบรมศพ ที่ใช้ประดิษฐานพระโกศพระบรมศพ เพื่อความเข้าใจก่อนพระราชพิธีสำคัญ พระเมรุมาศคืออะไร มีความเป็นมาอย่างไรในประวัติศาสตร์ไทย
ประวัติพระเมรุมาศ ความเป็นมาของพระเมรุมาศในประวัติศาสตร์ไทย
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เอกสารที่เก่าที่สุด เกี่ยวกับงานพระเมรุถวายพระเพลิงพระศพเจ้านาย เป็นบันทึกของชาวต่างชาติ เริ่มมีการบันทึกไว้ในสมัยอยุธยา หลังเสียกรุงครั้งแรก ตามการบันทึกของ แฟร์เนา เมนเดซ ปินโต นักเดินชาวโปรตุเกส ที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช แต่บันทึกของปินโตไม่ได้บอกว่าเป็นรูปทรงพระเมรุมาศ ระบุไว้เพียงแค่ว่า เผาพระศพบนกองฟืน มีเพียงแต่ใช้ไม้หอม อย่างไม้จันทน์ ไม้กฤษณามาจัดเรียงเป็นกองฟืน โดยไม่ได้บันทึกถึงรูปลักษณ์หน้าตาของพระเมรุ พอเผาเสร็จก็อัญเชิญพระอัฐเข้าพระโกศก็ไปทางเรือ
แต่พอหลังจากสมเด็จพระไชยราชาธิราช ในเอกสารต่างๆ เช่น ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็เริ่มมีการพูดถึงพระเมรุเผาศพ แต่ไม่ได้บอกรูปร่างหน้าตาว่าพระเมรุนั้นเป็นเช่นไร หลังจากนั้นก็เริ่มมีหลักฐานปรากฏ เช่น จดหมายเหตุงานพระศพกรมหลวงโยธาเทพ ซึ่งเป็นพระธิดาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและเป็นพระมเหสีของสมเด็จพระเพทราชา แต่ว่าท่านสิ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งทีนี้ก็จะเริ่มบอกแล้วว่า พระเมรุจะเป็นรูปทรงยอดปรางค์ ทำให้เริ่มรู้เต้าลางแล้วว่า พระเมรุมาศน่าจะเป็นรูปทรงปรางค์
แต่มีหลักฐานที่เพิ่งจะพบล่าสุด เมื่อปี 2559 เจอภาพเขียนงานแห่พระบรมศพสมเด็จพระเพทราชา และมีจุดหนึ่งที่วาดเป็นพระเมรุมาศ เป็นทรงมณฑปยอดปรางค์ 9 ยอด หลักฐานนี้ก็คือ ภาพวาดลายเส้นบนกระดาษแผ่นบางผนึกต่อกันบนผ้า และภาพสีวาดบนกระดาษแข็งผนึกบนผ้า วาดเมื่อต้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ หลังงานถวายพระเพลิงสมเด็จพระเพทราชา ในวันที่ 26 ธ.ค. 2247 ภาพอายุกว่า 300 ปีนี้เก็บรักษาอยู่ที่ หอสะสมงานศิลปะแห่งรัฐเดรสเดน ประเทศเยอรมนี (Old Masters Picture Gallery) ค้นพบโดย Barend Jan Terweil ศาสตราจารย์ด้านไทยศึกษา เมื่อปี 2558 และผศ.พิชญา สุ่มจินดา ได้ศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียด โดยภาพนี้จะทำให้เห็นรูปทรงพระเมรุยอดปรางค์ ที่สันนิษฐานกันว่าน่าจะถ่ายทอดรูปแบบการสร้างพระเมรุมาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์
ส่วนสถานที่จัดงานพระศพเจ้านายในสมัยอยุธยา มีการจัดในพื้นที่ที่เป็นสนามกว้าง เช่นเดียวกับท้องสนามหลวงปัจจุบัน โดยจากหลักฐานการจัดงานพระเมรุเผาพระศพเจ้านายยุคอยุธยา แรกมีในยุคสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยก่อสร้างพระเมรุมาศ บริเวณที่ว่างทางใต้พระวิหารพระมงคลบพิตร เช่นงานของพระศพกรมหลวงโยธาเทพ ท่านสิ้นที่วัดพุทไธศวรรย์ ก็อัญเชิญพระศพจากทางน้ำมาก่อน แล้วมาขึ้นที่ด้านทิศเหนือของพระราชวัง แล้วก็แห่พระศพมาประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ ซึ่งปัจจุบันตีรงหน้าพระที่นั่งเหลือแค่รากฐาน เรียกว่าถนนหน้าจักรวรรดิ ซึ่งใช้เป็นที่แสดงการละเล่นต่างๆ ทีนี้ตอนเผาพระศพ ส่วนพระเมรุตั้งอยูตรงลานที่ปัจจุบันนี้คือลานหน้าวัดมงคลบพิตร ซึ่งสันนิษฐานกันว่าตรงนี้คือท้องพระเมรุสมัยอยุธยา และน่าจะเป็นต้นแบบของทุ่งพระเมรุปัจจุบันของกรุงเทพ
รูปแบบของพระเมรุมาศ
มาจากคติความเชื่อทางศาสนาพุทธและพราหมณ์ โดยเขาพระสุเมรุป็นศูนย์กลางของจักรวาล บนเขาเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เขาพระสุเมรุล้อมรอบด้วยทะเล 7 ชั้น คือ สีทันดร และภูเขา 7 ลูก ที่เรียกว่าเขาสัตตบริภัณฑ์ สิ่งก่อสร้างต่างๆของพระเมรุมาศจึงเป็นการจำลองโลกและจักรวาลตามแนวคิดนี้ ที่มีความเชื่อว่า กษัตริย์สมัยอยุธยาหรือกษัตริย์ในราชวงศ์จักรี เป็นองค์พระนารายณ์อวตารลงมา พอท่านสิ้นแล้ว ท่านก็เสด็จกลับสู่สวรรค์ ดังนั้นสิ่งก่อสร้างที่จะเฉลิมพระเกียรติยศพระเจ้าแผ่นดินก็คือพระเมรุมาศ พระเมรุมาศก็คือการจำลองเขาพระสุเมรุมาสร้างนั่นเอง
ลักษณะของพระเมรุมาศ ในสมัยอยุธยารวมทั้งรัตนโกสินทร์ตอนต้น จะเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ เป็นอาคารที่มีหลังคาเป็นยอดแหลม ก่อสร้างซ้อนกัน 2 ชั้น ภายนอกเป็นอาคารทรงปราสาท ส่วนยอดมักจะทำเป็นรูปปรางค์ เรียกกันว่าพระเมรุใหญ่ ส่วนอาคารที่ซ้อนอยู่ภายในเป็นทรงบุษบกหรือทรงมณฑป เรียกว่าเมรุทอง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระจิตกาธาน หรือเชิงตะกอนรองรับพระโกศพระบรมศพ
รูปภาพ พระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ต้นแบบพระเมรุมาศนับตั้งแต่รัชกาลที่ 6 จนถึง รัชกาลที่ 9
ครั้งมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (มีรายงานการประชุมเสนาบดีสมัยรัชกาลที่ 6) ตามที่รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระราชทานกระแสพระราชดำริรับสั่ง ถึงการพระบรมศพของพระองค์ ให้เต็มไปด้วยความเรียบง่าย “เมื่อถึงตัวฉันเองแล้ว … ขอให้ยกเลิกงานพระเมรุใหญ่นั้นเสีย ปลูกแต่ที่เผาพอสมควรในท้องสนามหลวง” เมื่อประชุมกันแล้วก็ให้ทำพระเมรุในรูปแบบใหม่ คือ รูปแบบเป็นทรงบุษบก และมีพระที่นั่งทรงธรรม มีรั้วราชวัติ และมีช่าง ราชวัติที่ล้อมรอบ พระเมรุมาศของรัชกาลที่ 5 ที่เราเห็น คือขยายจากบุษบกที่อยู่ในพระเมรุใหญ่ แล้วก็มีพระจิตกาธานตั้งอยู่บนพระเมรุมาศไว้เผาพระศพ
นับตั้งแต่นั้น การก่อสร้างพระเมรุมาศจึงทำเพียงการนำพระเมรุทองทรงบุษบกที่เคยซ้อนอยู่ภายในมาขยายขนาด และละการสร้างอาคารทรงปราสาทขนาดใหญ่ที่เคยซ้อนอยู่ภายนอกเสีย และเป็นต้นแบบมาจนถึงปัจจุบัน นั่นก็คือต้นแบบพระเมรุมาศแบบใหม่ที่เราเห็น เป็นต้นแบบพระเมรุมาศของรัชกาลที่ 9
ที่มา : YouTube โดย matichon tv (เป็นเรื่อง! ตอนพิเศษ)
ตอนต่อไป … พระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9